In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

วิธีเยียวยาความชอกช้ำใจ

s__8839171

#ความชอกช้ำใจ เป็นอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลที่เจ็บปวดรวดร้าวและคับแค้นใจอันเกิดจากการถูกกระทำชำเรา ถูกรังแก ถูกบีบคั้น ถูกบังคับให้กระทำใดๆที่ขืนใจตนทั้งกายวาจาใจ เช่นถูกรังแกเฆี่ยนตี ล้อเลียน ข่มขืน ทอดทิ้ง อกหักรักร้าง เป็นต้น จนเป็นแผลในใจที่ฝังลึกและส่งผลให้บุคคลนั้นเกิดความทุกข์ระทมใจ ช้ำใจ และเจ็บใจอย่างยาวนาน

วิมลรักกันกับแฟนหนุ่มมานานกว่าหนึ่งปี โดยคบหาสมาคมช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนเกิดความไว้วางใจและมั่นใจว่าจะแต่งงานกัน เขาทุ่มเทความรักความภักดีทุกสิ่งทุกอย่างให้ชายคนรัก จนอยู่มาวันหนึ่งจึงรู้ว่าชายที่เธอรักกำลังจะแต่งงานกับหญิงอื่น ทำให้เขารู้สึกอกหักเสียใจอย่างใหญ่หลวงจนกินยานอนหลับเข้าไปหลายเม็ดเพื่อหวังที่จะฆ่าตัวตาย แต่ดีที่เพื่อนของเขารู้ทันและช่วยนำส่งโรงพยาบาลจนปลอดภัยในที่สุด

นั่นคือวิมลอยู่ในภาวะที่ชอกช้ำระกำใจอย่างแสนสาหัส และเขาโทรศัพท์มาปรึกษากับผู้เขียนหลายครั้งในช่วงเวลาประมาณ2เดือนจนเธอทำใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้เขียนให้การปรึกษาและช่วยเหลือเธอแนวพุทธจิตวิทยาผสานกับหลักการจิตวิทยาตะวันตก ซึ่งผู้เขียนประสงค์จะอธิบายแบ่งปันให้กับผู้อ่านที่อาจมีปัญหาคล้ายคลึงกันเพื่อนำไปปรับใช้คลี่คลายความชอกช้ำใจได้เช่นกัน โดยมีหลักการย่อๆห้าข้อดังต่อไปนี้

1)#ฝึกให้เขาคลายความเครียดด้วยการนั่งและนอนดูลมหายใจเข้าออกของตนเอง กล่าวคือให้มีสมาธิจดจ่อตามดูลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งขณะนั่งและนอน ทั้งยังให้รำลึกใคร่ครวญสำรวจร่างกายตนเองตั้งแต่ศรีษะจนถึงเท้าและใคร่ครวญรับรู้ตั้งแต่เท้าขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงศีรษะหลายๆรอบ ฝึกให้เขาอยู่กับลมหายใจตนเองในปัจจุบันขณะ โดยทำเป็นระยะๆทุกๆวัน

2)#ชวนเขามองเหตุการณ์จากหลายมุมมอง โดยให้เริ่มมองตั้งแต่เขายังไม่รู้จักกับผู้ชายคนนั้นว่าจิตใจของเขาเป็นเช่นไร และเมื่อพบผู้ชายคนนั้นแล้วจิตใจเป็นเช่นไร และเมื่อเขาถูกบอกเลิกจิตใจเขาเป็นเช่นไร ให้ใคร่ครวญดูรอบแล้วรอบเล่าและตั้งคำถามว่า เมื่อก่อนที่ไม่พบเขาเหตุใดจิตใจจึงสงบ และเมื่อพบแล้วจะต้องจากกันเหตุใดจิตใจจึงทุกข์ระทม พร้อมทั้งอธิบายชี้ชวนให้เขาเห็นถึงสิ่งสมมุติในเชิงการปรุงแต่งและกฏไตรลักษณ์ตามหลักพุทธปรัชญาและโลกแห่งการตีความที่เกิดจากความคิดของเขาเองทั้งสิ้น

3)#ชวนให้เขากลายมาเป็นผู้ชมเหตุการณ์ในชีวิตแทนการเป็นตัวละครที่ชอกช้ำใจ หลักการนี้จำเป็นต้องได้รับการแนะนำใกล้ชิดจากผู้ให้การปรึกษาเชิงพุทธเพราะเป็นการเฝ้าติดตามดูอาการของกายและจิตของตนเองทั้งก่อนการทุกข์ใจขณะที่ทุกข์ใจและหลังจากการทุกข์ใจ เมื่อถอยการรับรู้ออกมากลายเป็นผู้ชม จะเกิดการเรียนรู้ทางใจอย่างลึกซึ้งที่เห็นเป็นเพียงการรับรู้และการปรุงแต่งทางความคิดของตน จะช่วยให้ปรับตัวได้รู้สึกทุกข์ใจน้อยลงเรื่อยๆจนเป็นปกติในที่สุด

4)#ชวนเขาค้นหาคุณค่าและความหมายใหม่ของเหตุการณ์เดิม กล่าวคือเมื่อผ่านขั้นตอนที่สองและสามมาอย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้เขียนชวนเขามองเหตุการณ์ที่ผ่านมาด้วยมุมมองใหม่ด้วยความมีสติเขาจะรับรู้เห็นเหตุการณ์เป็นเพียงการเรียนรู้ของชีวิตและพัฒนาจิตใจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตลอดจนรู้สึกเวทนาและเมตตาตนเองมากขึ้น ให้อภัยและขอบคุณตนเองที่ได้เรียนรู้ทางใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจนปรับตัวได้

5)#ชวนให้เขาตั้งเป้าหมายใหม่ การตั้งเป้าหมายระยะสั้นคือการฝึกปฏิบัติตามหลักการสี่ข้อแรกเพื่อเป้าหมายให้หายจากความชอกช้ำใจและรู้สึกดีขึ้นทีละนิดๆเป็นระยะๆ อนึ่งเมื่อเขารู้สึกว่าดีขึ้นแม้จะทีละนิดๆเป็นระยะๆนั้นเขาจะเชื่อมั่นและขยันปฏิบัติในวิธีการดังกล่าวยิ่งขึ้น จนถึงระยะที่เขารู้สึกทุกข์ใจน้อยลงเรื่อยๆ ก็พึงชวนเขาตั้งเป้าหมายระยะยาวต่อไปเช่น ตั้งเป้าหมายที่จะตั้งใจเรียนหนังสือ ตั้งใจทำงานให้ผลงานออกมายอดเยี่ยม เป็นต้น

อนึ่งการฝึกให้เขาคิดและทำทั้งห้าขั้นตอนดังกล่าวนั้นในระยะแรกผู้เขียนให้การปรึกษาทางโทรศัพท์อย่างใกล้ชิดจนเขาสามารถทำได้ด้วยตนเอง จากนั้นจึงให้เขาโทรศัพท์มาปรึกษาเป็นระยะๆ พบว่าเขาเริ่มอยู่กับความรู้สึกที่ทุกข์ระทมใจได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และมีใจสงบลงเรื่อยๆเช่นกัน จนกระทั่งปรับตัวได้ดีในเวลาประมาณ6เดือน

สำหรับท่านที่พบเหตุการณ์ชอกช้ำใจต่างๆในชีวิต ก็สามารถเยียวยาตนเองด้วยหลักการทั้งห้าข้อดังกล่าวได้เช่นกัน แต่อาจต้องศึกษาในเรื่องของสมมุติบัญญัติและกฏไตรลักษณ์ด้วยตนเองให้เข้าใจลึกซึ้งด้วย ผู้เขียนยืนยันได้ว่าไม่ว่าใครๆก็สามารถใช้หลักการดังกล่าวได้ผล แต่อาจแตกต่างกันที่ความตั้งใจและเข้มข้นในการปฏิบัติ และระยะเวลาอาจยาวนานไม่เท่ากัน ทั้งนี้เนื่องมาจากปัจจัยทางจิตวิทยาทั้งภายในภายนอกของแต่ละคนที่ต่างกัน แต่ที่ไม่ต่างกันก็คือผลลัพท์ที่ได้จากการเยียวยาความชอกช้ำใจนั่นเอง

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recent Posts