In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ด้วยความอาลัยและได้อะไรจากการฆ่าตัวตายของเหม ภูมิภาฑิต

เรื่องความอาลัยและเสียใจต่อการจากไปของคุณเหม ภูมิภาฑิต นิตยารส นั้น เชื่อว่าทั้งคนวงการบันเทิงและสื่อสารมวลชน ตลอดจนแฟนคลับของคุณเหม ต่างก็ตกใจและอาลัยในการจากไปด้วยการฆ่าตัวตายของคุณเหมทั่วประเทศเช่นเดียวกัน นับว่าเป็นข่าวที่ช็อควงการบันเทิงอีกข่าวหนึ่งที่หลายคนพูดว่า. “ไม่น่าเชื่อว่าคุณเหมจะตัดสินใจฆ่าตัวตายในวันและวัยที่กำลังมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานเช่นนี้”

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อครับ! ว่าการป่วยด้วยโรคซึมเศร้านั้นไม่เข้าใครออกใคร ใครๆก็เจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้าได้ และอาจมีความคิดฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกัน ไม่เกี่ยวกับ อายุ เพศ วัย การศึกษา ศาสนา สถานภาพทางสังคมใดๆทั้งสิ้น แฟนสาวของคุณแหมให้สัมภาษณ์ว่าคุณเหมเคยเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาแล้ว นี้จึงควรเป็นข้อคิดแก่ผู้อ่านทุกท่านว่า ใครๆก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกัน แต่การเข้าใจอาการของโรคและการป้องกันต่างหาก ที่ทุกคนควรรู้และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะสัญญาณเตือนของการจะฆ่าตัวตาย

จากกรณีของคุณเหม-ภูมิภาฑิตนั้น ปรากฏสัญญาณเตือนด้วยการสื่อสารที่มีเนื้อหาในทำนอง “สั่งเสียฝากฝังสั้งลาและพรรณาถึงความยากลำบากของชีวิตและจิตใจอย่างชัดเจน” นั้นมีมาโดยตลอด ดังเช่นแฟนสาวของเขาให้สำภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า คุณเหมเคยเขียนจดหมายลาตายมาแล้ว และพบเข้าจึงพากันไปรักษาอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในระยะที่ผ่านมา (ส่วนการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่อย่างไรนั้นผู้เขียนไม่มีข้อมูล) และในช่วงเดือนกันยายนนี้ก็พบการสื่อสารทำนองดังกล่าวหลายประการณ์

เช่นสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ข้อความของJohn Connollyที่มีเนื้อหาในทางความคิดและความรู้สึกด้านลบต่อโลกและชีวิต คือ This world is full of broken things :broken hearts,broken promises ,broken people (โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่แหลกสลาย,หัวใจที่แหลกลาญ คำสัญญาที่แตกหัก,ผู้คนที่แตกแยกแหลกสลายไร้ความสมบูรณ์) และยังพาดหัวข้อทางอินสตาแกรมส่วนตัวว่า Come alone ,die alone (มาเพียงลำพังคนเดียวก็ตายไปอย่างเพียงลำพังคนเดียว) เป็นต้น

ความคิดและความรู้สึกลบต่อตนเองทำนองดังกล่าวนั้น มักพบอยู่เสมอในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งคนเหล่านี้จะมองโลกและชีวิตในทางลบ เช่น หดหู่ เศร้าใจ สิ้นหวัง เหงา ร้าวร้านใจและไร้ความภาคภูมิใจในชีวิต มักคิดว่าตนเองไร้คุณค่าและรู้สึกผิดต่อสารพัดเรื่องในชีวิตแล้วใช้กลไกทางจิตแบบโทษตนเอง เมื่ออะไรๆก็โทษตนเองไปเสียหมดก็ทำให้ตนเองรู้สึกไร้คุณค่าไร้ความหมายไร้ความหวังและไร้พลังที่จะมีมีชีวิตอยู่ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความคิดที่บิดเบือน ซึ่งศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์Aron Temkin Back จิตแพทย์ชื่อดังของภาควิชาจิตเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาและกล่าวไว้เช่นนั้น

นอกจากนั้นเขายังโพสต์คำว่า ”ขอขอบคุณทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตใกล้ถึงวันแห่งอิสรภาพเสียที” ประโยคนี้บ่งชี้ถึงการที่เขาได้คิดใคร่ครวญมานานแล้วว่าจะฆ่าตัวตายหรือไม่ฆ่าตัวตายดี สุดท้ายก็ตกผลึกทางความคิดของตนว่า จะต้องฆ่าตัวตาย จึงได้สื่อสารทำนองสั่งลาเช่นนั้นออกมา โดยส่วนมากคนไข้โรคซึมเศร้าและคิดจะฆ่าตัวตายมักจะเข้าใจผิดคิดว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาชีวิตและมักเข้าใจผิดคิดว่าหากฆ่าตัวตายแล้วจะได้พ้นจากพันธนาการต่างๆของชีวิตในทางโลกและคงจะได้รับอิสรภาพในชีวิตหลังความตายนั่นเอง ซึ่งความคิดและการสื่อสารเช่นนี้มักพบในผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายเป็นประจำ

หากมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นปรากฎการณ์หนึ่งของโลก ซึ่งไม่อาจยุติได้ร้อยเปอร์เซ็นทั้งองค์การอนามัยโลกก็รายงานว่าแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายทั่วโลกประมาณแปดแสนคนก็ตาม แต่การได้ช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและคิดอยากฆ่าตัวตายให้พ้นจากความรู้สึกเหล่านั้นได้ จะเป็นกุศลอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ด้วยการตั้งข้อสังเกตว่าบุคคลที่ใกล้ชิดมีความคิดอารมณ์และพฤติกรรมที่หดหู่หม่นหมองเศร้าใจจนไม่อาจปรับตัวได้เกินสองอาทิตย์หรือไม่ และจับสัญญาณเตือนที่สั่งเสียฝากฝังสั่งลาและพรรณนาถึงความทุกข์ยากลำบากใจและไม่อยากมีชีวิตอยู่ให้ได้นั้น เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำมาสู่การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายได้

นั่นหมายความว่า เมื่อจับสัญญาณเตือนที่มีเนื้อหาทำนองสั่งเสียฝากฝังสั่งลาและพรรณาถึงการมองโลกและชีวิตในทางลบได้ จากการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ดังตัวอย่างของคุณเหม ให้รีบเข้าไปช่วยเหลือด้วยการรับฟังและถามเขาตรงๆว่าเขารู้สึกหดหู่เศร้าใจและอยากทำร้ายตัวเองหรือไม่ หากเขาเป็นเช่นนั้น ควรรีบชวนกันไปพบหมอเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาทันทีและต่อเนื่อง เพราะการได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ที่ซึมเศร้าและคิดอยากฆ่าตัวตายพ้นภัยทางใจไปได้และมีชีวิตที่สงบสุขต่อไปได้นั่นเอง

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

</p>

Recommended Posts