In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

สื่อสารอย่างไรให้ได้ใจเยาวชน

“อาจารย์คะจะทำอย่างไรดี ลูกชายวัยรุ่นไม่ยอมฟังหนูพูดเลย เขาดื้อมากคะ ทั้งยังหาว่าหนูพูดมากอีกด้วย ทั้งๆที่หนูก็รักห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกอย่างที่สุด ทั้งยังว่าแม่ไม่รักอีกต่างหาก” “ใช่แล้วครับ พ่อตักเตือนอะไรก็ไม่ค่อยฟัง เคยทะเลาะกับผมบ่อยครั้งจะเถียงผมเสียงดังแล้ววิ่งเข้าห้องนอนปิดประตูเก็บตัวเงียบ พอเพื่อนโทรศัพท์มาชวนเท่านั้นแหละครับ พากันขับมอเตอร์ไซค์ออกไปเที่ยวเฉยเลย” นั่นเป็นคำบอกเล่าของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่มาปรึกษากับผู้เขียน

parent-and-teen

ใช่เพียงแต่ตัวอย่างที่กล่าวมาเท่านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับการรับมือกับลูกวัยรุ่นกับผู้เขียนเป็นระยะๆ และหลายรายผู้เขียนมีโอกาสได้สนทนากับลูกๆของคุณพ่อคุณแม่เหล่านั้น เพื่อสอบถามความเห็นของฝ่ายลูกด้วย ลูกๆวัยรุ่นเหล่านั้นมักจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการสื่อสารของพ่อแม่ที่มีต่อเขาหลายแง่มุม เช่น พร่ำบ่น ด่าทอจุกจิกจู้จี้ ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่เขารับรู้อยู่แล้ว กระทั่งสื่อสารทั้งกริยาและวาจาที่ทำให้เขารู้สึกได้ว่าไม่เป็นที่รักและไว้วางใจเลย

แน่นอน! หากตั้งสมมุติฐานว่า พ่อแม่และการเลี้ยงดูเป็นเหตุ ลูกเป็นผล พึงต้องแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่พ่อแม่ผู้ปกครองนั่นเอง เนื่องด้วยวันที่ 20 กันยายน ของทุกปีรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติเพื่อรณรงค์ให้ความสำคัญกับเยาวชนไทยทุกคนให้เติบโตมาอย่างมีคุณภาพเพื่อเป็นพลเมืองดีและผู้นำด้านต่างๆของประเทศไทยเราในอนาคตจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง ผู้เขียนจึงขอนำเสนอวิธีการสื่อสารกับเยาวชนที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและสังคมตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีต่อเยาวชนพอสังเขปดังนี้

1) สื่อสารด้วยการรับฟังอย่างมีประสิทธิภาพ การรับฟังเป็นขั้นตอนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการสื่อสารซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการตั้งใจรับฟังใครๆนั้นแสดงให้เห็นว่าเรายอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นอยู่ โดยเฉพาะเยาวชนนั้นต้องการให้พ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูรับฟังในสิ่งที่เขาจะสื่อสารเพื่อแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่างๆ แต่ผู้ใหญ่มักจะไม่ค่อยฟังหรือฟังก็พิจารณาตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์ทันที ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้เยาวชนไม่สามารถจะแสดงความเห็นและระบายความรู้สึกต่างๆให้ฟังได้ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคเบื้องต้นต่อการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆตามมา

2) สื่อสารด้วยสีหน้าท่าที่ที่สุภาพและเป็นมิตร การสื่อสารด้วยสีหน้าท่าที(อวจนภาษา)ที่สุภาพและเป็นมิตรนั้นประกอบด้วยการมองด้วยแววตาที่ซื่นชมสีหน้าที่แจ่มใส ไม่มองด้วยหางตาและดูถูกเหยียดหยาม ตลอดจนมีท่าทีที่สุภาพ เช่น ผายมือเชิญชวนและชี้นำ ไม่ใช้นิ้วชี้ชี้หน้าเขา ภาษากายนี้สำคัญยิ่งสามารถอ่านความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อมได้กว่าการสื่อสารด้วยวาจาเสียอีก หากสื่อสารด้วยสีหน้าท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตรแล้ว นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนยังเป็นการสร้างมิตรภาพเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆตามมาอีกหลายอย่าง

3) สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่สุภาพ น้ำเสียงหรือปริภาษามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆของการสื่อสาร เช่น เสียงดัง เสียงค่อย เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงกลาง เสียงแหบพร่า เสียงตะโกนตะคอก เสียงคำราม เสียงนุ่ม เป็นต้น โดยทั่วไปน้ำเสียงที่สุภาพคือน้ำเสียงที่นุ่มนวลพูดด้วยเสียงระดับกลางลากเสียงยาวนิดหน่อยพร้อมทั้งมีหางเสียงคือคำว่า ครับ หรือ ค่ะ การสื่อสารด้วยน้ำเสียงที่สุภาพพร้อมทั้งสีหน้าท่าทีที่สุภาพและเป็นมิตร จะทำให้เยาวชนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและได้รับเกียรติจากพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูที่สื่อสารกับเขา เป็นเหตุของการสร้างมิตรภาพที่ดีต่อไป

4) สื่อสารด้วยความห่วงใยใส่ใจ การสื่อสารด้วยเนื้อหาที่ห่วงใยใส่ใจนั้นเป็นการสื่อสารถึงความปรารถนาดีและห่วงใยที่มีต่อเขา จะช่วยให้เขารู้สึกได้ว่าเป็นที่รักและห่วงใยของพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครู การสื่อสารด้วยเนื้อหาที่ห่วงใยนั้น จะต้องสื่อสารด้วยสีหน้าท่าทีและน้ำเสียงที่สุภาพเป็นมิตรเช่นกัน แต่เนื้อหาเป็นการห่วงใยใส่ใจ เช่น “เป็นอย่างไรบ้าง” “รู้สึกอย่างไรบ้าง” “มีอะไรก็ปรึกษาพ่อแม่หรือคุณครูได้นะครับ” “หรือมีอะไรจะให้ช่วยเหลือก็ปรึกษากันได้นะครับ” เป็นต้น

5) สื่อสารด้วยการชื่นชม การชื่นชมเป็นทั้งการสื่อสารเพื่อให้กำลังใจให้คุณค่าและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยเพราะเป็นแรงจูงใจเชิงบวกที่จะกระตุ้นให้เยาวชนมีพลังใจและทำในสิ่งดีๆยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเยาวชนได้รับการชื่นชมนั้น จะช่วยให้เขารู้สึกได้ว่าเขาเป็นคนมีคุณค่ามีความหมายและมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครู หลักการชื่นชมคือค้นหาคุณงามความดีของเขาให้พบมากๆแล้วนำความดีและความสำเร็จต่างๆเหล่านั้นมาชื่นชมอย่างสมำเสมอ กระทั่งชื่นชมที่เขามีความพยายามทำสิ่งต่างๆให้ดีขึ้นเรื่อยๆเป็นต้น

6) สื่อสารอย่างมีเหตุผล การสื่อสารแบบผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ มีความฉลาดทางอารมณ์และความฉลาดทางสังคมนั้น จะสื่อสารต่อกันอย่างมีเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ด้านลบมานำการสื่อสารรูปแบบต่างๆ แต่จะสื่อสารด้วยอารมณ์ที่สงบร่มเย็นและมีเหตุผล การสื่อสารเช่นนี้จะสร้างความน่าเชื่อถือให้ทั้งฝ่ายผู้สื่อสารออกไปและยังทำให้เยาวชนได้เรียนรู้การมีชีวิตอยู่อย่างมีเหตุผล นั่นคือการจะทำสิ่งใดๆต้องทำอย่างสมเหตุผลแบบผู้ใหญ่ การสื่อสารเช่นนี้ นอกจากจะช่วยลดการพร่ำบ่นที่ไร้สาระของพ่อแม่ผู้ปกครองแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาให้เยาวชนมีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย

วิธีการสื่อสารกับเยาวชนทั้งหกประการดังกล่าว ผู้เขียนได้สังเคราะห์ขึ้นจากทฤษฎีการสื่อสารและจิตวิทยาหลายทฤษฏี พร้อมทั้งจากประสบการณ์ตรงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหากพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูสามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกันทั้งหกข้อดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเยาวชนได้เป็นอย่างดีนำมาสู่ความไว้วางใจต่อกันซึ่งจะ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเยาวชนให้ดีขึ้น ทั้งยังจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

</p>

Recommended Posts