น้องโยโย่หนีออกจากบ้านฤๅถูกลักพาก็สะท้อนปัญหาสุขภาพจิตวันรุ่นอยู่ดี
อีกหนึ่งข่าวดังที่เป็นกระแสอยู่ในช่วงนี้ คงไม่หนีข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอว่าชายวัย 52 ปีล่อลวงน้องโยโยวัยรุ่นหญิงอายุ 14 ปีจากบ้านจังหวัดระยอง ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ และมีการนำเสนอข่าวด้วยมุมมองที่หลากหลาย ทั้งมุมมองของชายวัย 52 ปีกับการล่อลวงเด็กหญิงและมุมมองว่าเหตุใดเด็กหญิงดังกล่าวจึงตามผู้ชายคนนี้ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏการณ์ดังกล่าวมิใช่เป็นครั้งแรก พบอยู่เป็นระยะๆ จากการนำเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชน แม้ในแวดวงการสุขภาพจิตก็พบอยู่สม่ำเสมอเช่นกัน นั่นคือวัยรุ่นถูกกระทำรุณแรงทั้งทางกายวาจาใจรูปแบบต่างๆ นั้นเอง
หากจะมองด้วยมุมมองทางด้านสุขภาพจิตแล้วนั้น ผู้เขียนมีความเห็นใจทุกๆ ฝ่ายทั้งฝ่ายที่ถูกอ้างว่าเป็นฝ่ายกระทำและฝ่ายถูกกระทำเพราะแท้ที่จริงแล้วทุกๆ คนกำลังตกอยู่ในวังวนบริบทของความไม่สมบูรณ์ทางด้านสุขภาพจิตทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นนั่นเอง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสมควรได้รับการบำบัดรักษาและเยียวยาด้วยกันทั้งคู่ แต่หากมองผ่านกรอบของวิทยาการด้านกฎหมายก็จะถูกวินิจฉัยออกมาว่ามีใครผิดและใครถูกนั่นเอง
แต่สำหรับบทความในครั้งนี้ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่จะนำมาสู่การป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือปัญหาทำนองนั้น อันมักจะเกิดจากความไม่เข้าใจวัยรุ่นในหลายประเด็นด้วยกันทั้งธรรมชาติทางสุขภาพจิตของวัยรุ่นที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจรับมืออย่างไม่เหมาะสม หรือไม่เข้าใจว่าวัยรุ่นมีความมีความเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อมีปรากฏการณ์ที่วัยรุ่นไม่ว่าหญิงหรือชายหนีตามใครไป สังคมมักจะมองว่าเด็กและวัยรุ่นเหล่านั้นถูกล่อลวง ซึ่งนั่นเป็นมุมมองทางด้านกฏหมายและมีจิตวิทยาปะปนอยู่ไม่มากนัก แต่ก็อย่าลืมว่ามีวัยรุ่นอีกมากมายกว่าที่ไม่ถูกใครๆ ล่อลวงไปได้ #คำถามสำคัญคือ อะไรทำให้วัยรุ่นเหล่านั้นถูกล่อลวงหรือแท้จริงเขาไม่ได้ถูกล่อลวง แต่เขาหนีไปเพราะเขารู้สึกได้ว่าเขาไม่ได้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของพ่อแม่และครอบครัว
ผู้เขียนพบอยู่สม่ำเสมอ กรณีที่วัยรุ่นหนีออกจากบ้านโดยถูกพ่อแม่ผู้ปกครองประณามว่าเป็นเด็กเกเรเด็กใจแตกหนีตามผู้อื่น นั่นเป็นมุมมองหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนให้คุณค่าและความหมายต่อปรากฏการณ์นั้นเป็นอย่างไร แต่ในทางสุขภาพจิตหรือจิตวิทยาสิ่งที่เราพบและควรเข้าใจวัยรุ่นก็คือ แทบทุกรายที่หนีออกจากบ้านไม่ว่าจะตามใครใครไปก็ตาม วัยรุ่นเหล่านั้นรู้สึกถึงความไม่เป็นที่รักจากบุคคลในครอบครัวนั่นเอง
ธรรมชาติความต้องการของวัยรุ่นนั้น เขา “อยากเก่ง อยากโต อยากโชว์ อยากช่วย อยากให้ผู้อื่นชื่นชมและอยากรู้อยากลอง” ดังนั้นหากผู้ใหญ่เข้าใจธรรมชาติดังกล่าวผู้ใหญ่ก็จะรับมือกับวัยรุ่นได้อย่างเหมาะสม นั่นคือเปิดโอกาสให้เขาได้รู้ได้ลองในสิ่งที่เหมาะสมและปลอดภัยและอยู่ในสายตาของพ่อแม่ผู้ปกครองแบบมุมมองของเพื่อน ไม่ใช่ผู้คุมชะตาชีวิต ที่ห้ามไปเสียทุกเรื่อง พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยเลี้ยงลูกด้วยคำว่าอย่า อย่าทำโน่นอยากทำนี่ อย่าไปนู่นอยากไปนี่ อย่าและห้ามไปหมดเลย ไม่เคยให้อิสรภาพกับลูก เมื่อเขารู้สึกว่าไม่ได้รับอิสรภาพและไม่ได้รับความไว้วางใจ สิ่งเดียวที่เขาทำก็คือหนีออกบ้านไปซะเลย
การที่วัยรุ่นคนหนึ่งอยู่ในครอบครัวและได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไร้อิสรภาพทั้งทางความคิดและการกระทำ จะทำให้วัยรุ่นไร้ความภาคภูมิใจในตนเอง และรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ การเลี้ยงดูและการกระทำเช่นนั้น ผู้ใหญ่อาจเข้าใจว่าคือการห่วงใยใส่ใจ #แต่วัยรุ่นกลับตีความว่าเขาไม่ได้รับความไว้วางใจ เพราะฉะนั้น เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและวัยรุ่นต่างตีความในปรากฏการณ์ดังกล่าวต่างกัน จึงนำมาสู่ความไม่เข้าใจกันและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นหนีออกจากบ้านนั่นเอง
แล้วหนีไปที่ไหนหละ ก็หนีไปกับเพื่อนหรือใครก็ได้ที่เขารู้สึกได้ว่าเข้าใจเขาและเขารู้สึกมีคุณค่าและได้รับความไว้วางใจนั่นเอง กระบวนการช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตนั้นต้องช่วยเหลือด้วยการทำครอบครัวบำบัดด้วยการสร้างความเข้าใจระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและวัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้การบำบัดด้วยการสร้างรู้ความเข้าใจแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้เขาเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่นและวิธีการรับมือที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักการทางจิตวิทยา จึงจะอยู่ด้วยกันด้วยความเข้าใจและสงบสุข
ด้วยบริบทการเลี้ยงดูของคนไทยเรานั้น ปลูกฝังให้เด็กและวัยรุ่นต้องเชื่อฟังพ่อแม่ผู้ปกครองและอยู่ในโอวาทตลอดเวลานั้นมีข้อดีก็จริงอยู่ แต่ข้อจำกัดในทางจิตวิทยานั้นอาจทำให้เด็กและวัยรุ่นรู้สึกไร้ความภาคภูมิใจไร้โอกาสได้แสดงออก อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งในใจและความคับข้องใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับตัวจนกระทั่งอาจนำมาสู่ภาวะป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นได้ในที่สุด การดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่นนั้นสำคัญกว่าการดูแลด้านสุขภาพกายด้วยซ้ำเพราะมีความซับซ้อนมากมาย ทั้งปัญหาการปรับตัว ปัญหาขาดความฉลาดทางอารมณ์ ขาดความฉลาดทางสังคม ขาดความยับยั้งชั่งใจ กระทั่งการป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้วและโรคซึมเศร้าดังเช่น
ล่าสุดกรมสุขภาพจิตรายงานว่า วัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 10 – 19 ปี เสี่ยงป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงถึงร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากวัยรุ่นทั้งประเทศประมาณ 8 ล้านคน และมีอัตราการป่วยด้วยโรคนี้แล้วร้อยละ 18 คือ 1 ล้านกว่าคน ทั้งยังเข้าถึงบริการน้อยมาก ด้วยเพราะพฤติกรรมซึมเศร้าในวัยรุ่นนั้นต่างจากผู้ใหญ่ นั่นคือเขาอาจมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นใช้สารเสพติด แยกตัวเองหนีออกจากบ้านหรือไม่กล้าเข้าสังคม ทำให้ผู้ปกครองหรือครูเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กเกเรเด็กใจแตก จึงทำให้เยาวชนไม่ได้รับการช่วยเหลือทางสุขภาพจิต และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆอีกมาก เช่นการใช้ความรุนแรง การหนีเรียน หนีออกจากบ้าน การใช้สารเสพติด การถูกทารุณกรรมรูปแบบต่างๆ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นต้น
ดังนั้นจากกรณีศึกษาการถูกลักพาตัวหรือการหนีออกจากบ้านของน้องโยโย่นั้น ผู้เขียนจึงมิอาจวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและรอบด้านได้อย่างจริงจัง เพราะมีข้อมูลเท่าที่พบจากการนำเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้อ่านทุกท่านมองเห็นว่า ปัญหาวัยรุ่นนั้นมีความซับซ้อนยิ่งนัก จึงจำเป็นที่ประเทศเราจะต้องมีนโยบาย และแนวทางในการช่วยเหลือ ป้องกัน ปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบดังต่อไปนี้
1) #สถาบันการศึกษาต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตวัยรุ่นอย่างเป็นระบบและชัดเจน กระทั่งกำหนดให้วัยรุ่นทุกคนได้เข้าศึกษาเพื่อรู้ทันความต้องการและปัญหาทางด้านสุขภาพจิตของตนเอง ที่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่นๆอีกมาก เพราะการรู้เท่าทันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองนั้นคือรูปแบบหนึ่งของการป้องกันปัญหาได้เป็นอย่างดี
2) #เปิดโรงเรียนพ่อแม่ทุกจังหวัดหรือทุกภาคของประเทศไทย ให้ผู้ปกครองสามารถเข้ารับการอบรมอย่างเป็นระบบ เป็นหลักสูตรระยะสั้นได้ โดยเรียนรู้เรื่องของ สุขภาพจิตครอบครัว และที่สำคัญคือการเลี้ยงลูกในวัยเด็กและวัยรุ่นอย่างถูกวิธี เพราะการให้ความรู้อย่างเป็นระบบนั้นจะทำให้พ่อแม่รับมือกับลูกวัยเด็กและวัยรุ่นได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการทางสุขภาพจิต ซึ่งจะนำมาสู่การป้องกันปัญหาวัยรุ่นต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
3) #จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นและครอบครัวทุกจังหวัดอย่างเป็นระบบ โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และสุขภาพจิตครอบครัวให้ครอบคลุมบุคคลทุกคนเฉกเช่นการฉีดวัคซีนที่ต้องฉีดในกลุ่มประชากร 100% นั่นเอง แต่วัคซีนใจนั้นต้องฉีดด้วยการให้ความรู้อย่างเป็นระบบชัดเจนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรเช่นเดียวกัน โดยสถาบันดังกล่าวจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข (กรมสุขภาพจิต) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
4) #จัดตั้งและเข้าไปสนับสนุนเครือข่ายเยาวชนที่มีอยู่แล้ว ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้านเพื่อให้มีการสนับสนุนพัฒนาการและสุขภาพจิตของเยาวชนอย่างเป็นระบบ และเป็นเครือข่ายซึ่งกันและกันตลอดจนสนับสนุนให้มีการประสานงานเครือข่ายเยาวชนกับต่างประเทศเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สุขภาพจิตของเยาวชนต่างวัฒนธรรมและเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์แก่เขาเพื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ที่สุขภาพจิตดีและมีวิสัยทัศน์อีกด้วย
5) #รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของเรื่องสุขภาพจิต ลดอคติ ลดการตีตรา ทางสังคม ที่มักจะมองว่าปัญหาสุขภาพจิต เป็นเรื่องของคนอ่อนแอหรือคนบ้าเท่านั้น ส่งเสริมให้วัยรุ่นทั่วประเทศไทยสามารถเข้าถึงการทดสอบและคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และเป็นความลับ หากพบจะได้รีบป้องกันแก้ไข เพื่อไม่ให้นำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาได้อีกเป็นจำนวนมาก ดังที่ได้อธิบายผ่านมา
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว #คงจะจินตนาการเห็นภาพในระดับมหภาคของสังคมได้ว่า กรณีตัวอย่างของน้องโยโย่ที่สื่อมวลชนนำเสนอว่า ”หนีออกจากบ้านหรือถูกล่อลวงออกจากบ้าน” นั้น เป็นเพียงหนึ่งปรากฏการณ์ของปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นนั่นเอง หากสัมคมไทยมีนโยบายป้องกันอย่างเป็นระบบดังที่กล่าวมา ก็จะสามารถป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตวัยรุ่นแบบองค์รวมและเป็นระบบได้ในที่สุด