คนสำคัญที่ไม่สำคัญ :ความสำคัญของความฉลาดทางสังคม
“คุณรู้หรือเปล่าว่าผมเป็นใคร?” เป็นประโยคที่คนขับรถแท็กซี่หลายคนเล่าให้ฟัง กล่าวคือเมื่อผู้เขียนโดยสารด้วยรถแท็กซี่มักจะสนทนากับคนขับเสมอและหนึ่งในบทสนทนามักจะถามว่า การขับรถแท็กซี่มีเหตุการณ์อะไรที่รู้สึกประทับใจและไม่ประทับใจบ้าง คนขับแท็กซี่หลายคนเล่าให้ผูเขียนฟังขณะโดยสารว่า “ไม่ประทับใจผู้โดยสารบางคนที่อัตตาสูงไร้เหตุผลตามใจตนและคิดว่าผู้รับบริการย่อมถูกเสมอและเมื่อเกิดปัญหาก็มักจะได้ยินคำว่า คุณรู้หรือเปล่าว่าผมเป็นใคร”
ค นขับแท็กซี่คันหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ผมไปส่งผู้โดยสารคนหนึ่ง ซึ่งเดินทางเข้าไปในซอยลึกและซับซ้อนมากกว่าจะถึงบ้านผู้โดยสาร เนื่องจากถนนหน้าบ้านของเขาก็คับแคบมากและเป็นเนินสูงประมาณ 10 เมตร คิดดูแล้วว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถขับรถขึ้นไปได้ จึงบอกผู้โดยสารคนดังกล่าวว่า ผมไม่สามารถขับรถขึ้นไปได้ ขออนุญาตจอดรถก่อนขึ้นเนินหน้าบ้าน แล้วจะช่วยขนของทุกอย่างขึ้นไปให้ ผู้โดยสารคนดังกล่าวไม่พอใจมากสั่งให้ขับรถขึ้นไปให้ได้ด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวและดุดันพร้อมทั้งพูดว่า “มึงไม่รู้หรือว่ากูเป็นใคร”
เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่อีกคันหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งมีผู้โดยสารสองคนขึ้นรถมาด้วยกัน บอกว่าจะไปโรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ปทุมธานี เมื่อไปส่งถึงที่หมายแล้ว เธอโทรศัพท์ไปหาเพื่อนปรากฏว่าเพื่อนเธอให้ไปรอที่สนามบินดอนเมือง เธอจึงบอกกับแท็กซี่ว่าให้ไปส่งที่สนามบินดอนเมืองต่อ แท็กซี่จึงขอเริ่มต้นนับมิเตอร์ใหม่ แม้สถานที่ทั้งสองไม่ไกลกันมากนักแต่เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนจุดหมายใหม่ โดยหลักการจึงขอเริ่มต้นนับมิเตอร์ใหม่ ทำให้เธอทั้งสองคนไม่พอใจมาก อ้างว่าก็แค่ขับรถไปต่อทำไมต้องนับมิเตอร์ใหม่ เธอต่อว่าแท็กซี่ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวพร้อมทั้งพูดว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นใคร”
“คุณรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นใคร” คำนี้สะท้อนความหมายและอารมณ์เบื้องหลังของผู้พูดหลายประการ นั่นคือหมายความว่า เขาเป็นคนสำคัญและยิ่งใหญ่ อยากได้อะไรแล้วต้องได้ ใครขัดใจเป็นอันไม่ชอบ ไม่ว่าจะพูดถูกต้องโดยหลักการหรือไม่ แต่ไม่ถูกใจฉันเป็นอันเบ่งอัตตาขึ้นมาทันที ส่วนใหญ่คนที่พูดอย่างนี้ในทางจิตวิทยาคือคนที่ชีวิตขาดและพลาดพร่องมาแต่อดีต เมื่อมีอำนาจวาสนาบารมีใดๆ ขึ้นมา มักจะอวดเบ่งอัตตาใหญ่โต เพื่อสนองความภูมิใจให้ตนเอง แท้จริงเป็นการแสดงถึงความขาดและพลาดพร่องในชีวิตที่ผ่านมา จิตใจจึงไร้เมตตาเบ่งตัวตนเพื่อข่มขู่ผู้อื่น เข้าทำนองอัตตาสูงเมตตาต่ำนั่นเอง
ผู้เขียนเชื่อว่าไม่เพียงแต่คนขับรถแทกซี่เท่านั้นที่มักจะเจอคำพูดดังกล่าว ผู้อ่านหลายๆ ท่านก็อาจเคยเจอมาแล้วเช่นกัน ทั้งในชีวิตประจำวันทั่วไปและในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในสายงานด้านการบริการ ยิ่งเจอผู้รับบริการที่อัตตาสูง คนเหล่านี้มักจะเบ่งอัตตาอวดใหญ่อวดโตเมื่อให้บริการไม่ได้ดั่งใจก็มักจะต่อว่าผู้ให้บริการและปิดท้ายด้วยประโยคว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นใคร”
หากใครที่มักพูดกับคนอื่นว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นใคร” ก็ขอให้รู้ตัวเถิดว่ากำลังสื่อสารแสดงความขาดและพลาดพร่องของชีวิตในอดีตออกมาให้ผู้อื่นได้เห็น โดยหวังว่าการสื่อสารที่แสดงว่าตนเองมีอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งและสำคัญนั้น จะช่วยเติมเต็มตัวตนให้ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น แท้จริงกำลังแสดงความขาดและพลาดพร่องออกมาให้คนอื่นเห็นต่างหาก คนที่สำคัญตัวจริงเขาไม่พูดคำนี้กับใคร เพราะเขาเป็นคนสำคัญตัวจริงที่ใครๆ ก็รู้จัก เช่น อริยชนทั้งหลายของประชาคมโลก
และหากมีใครมาพูดกับเราว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นใคร” ก็ขอให้เราทำใจเป็นกลางๆ และนิ่งสงบ แผ่เมตตาและเวทนาให้กับคนขาดและพลาดพร่องเหล่านั้น มองเขาด้วยสีหน้าและแววตาที่เป็นมิตร พร้อมทั้งตั้งใจรับฟังในสิ่งที่เขาจะบอกเล่า เพราะเขากำลังต้องการเป็นคนสำคัญในสายตาของเรา เมื่อเราตั้งใจรับฟังด้วยความสงบและเมตตาแก่เขา เรากำลังแสดงความเข้าใจเห็นใจและแสดงความกรุณาที่ยิ่งใหญ่ เมื่อนั้นเรานั่นแหละคือคนสำคัญตัวจริงและยิ่งใหญ่ในทางคุณธรรม
การเป็นคนสำคัญเพราะมีอำนาจวาสนาบารมีในทางโลกใครๆ ก็อาจอยากมี แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเป็นคนสำคัญ คือความสำคัญของสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อมเท่าทันความสำคัญโดยสมมุติทางโลก เพราะสติและเมตตาจะกำกับความสำคัญทางโลกไม่ให้อวดเบ่งใส่ผู้อื่น ส่งผลให้เป็นคนสำคัญทางธรรมที่มีความสูงส่งทรงคุณค่าทางจิตใจยิ่งขึ้น เพราะความสุขและสำเร็จทางโลกนั้นไม่จีรัง มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ พุทธศาสนา เรียกว่า โลกธรรม 8 คือ มีสุขก็มีทุกข์ มีลาภก็มีเสื่อมลาภ มียศก็มีเสื่อมยส มีสรรเสริญก็มีนินทา สลับสับเปลี่ยนคู่กันไปเช่นนั้นเอง
ผู้ที่เห็นคุณค่าในตัวเองอย่างแท้จริง จะส่งผลให้เห็นคุณค่าในผู้อื่นเสมอ จะรู้จักการให้เกียรติทั้งตนเองและผู้อื่น สื่อสารอย่างมีเหตุผล ด้วยน้ำเสียงและสีหน้าท่าทีที่สงบและเป็นมิตร มองโลกด้านดี ไม่ยกตนข่มท่าน จัดการความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์(EQ)และความฉลาดทางสังคม(SQ) จะส่งผลให้ตนเองได้รับการสรรเสริญและศรัทธาจากผู้อื่น นำมาสู่ความสุขและสำเร็จทั้งชีวิต คนเหล่านี้จะไม่พูดว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่าฉันเป็นใคร” ซึ่งสะท้อนวิธีคิดที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่จะเปลี่ยนเป็นพูดว่า “คุณมีอะไรให้ฉันช่วยบ้าง” ซึ่งสะท้อนการก้าวข้ามตัวตนไปสู่การคิดที่มีผู้อื่นเป็นศูนย์กลาง และนี้คือส่วนหนึ่งของจิตบริการหรือจิตสำนึกสาธารณะที่สังคมปรารถนานั่นเอง