ขยี้เป้าเขย่าฝัน อีกหนึ่งรหัสลับปรับโปรแกรมจิตพิชิตความสำเร็จ
นิพนธ์ยืนหน้าเศร้าอยู่ที่ระเบียงอาคารเรียน ขณะที่สายตานั้นมองตามหลังประพันธ์เพื่อนรักที่เดินตามพ่อแม่ของเขาเมื่อคราวพากันมาลาออกจากโรงเรียน ทั้งที่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เหตุเพราะประพันธ์หนีเรียนเป็นประจำและไม่ส่งงานที่ครูมอบหมาย จนทางโรงเรียนเชิญผู้ปกครองมาพบ แต่ผู้ปกครองของเขายืนยันที่จะให้ลูกลาออกไปช่วยกิจการครอบครัวและให้เรียนการศึกษานอกระบบแทน ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อไม่อยากมาโรงเรียนก็ให้ออกมาทำงานช่วยที่บ้าน เมื่อมาเรียนก็ต้องไม่หนีเรียน
นิ พนธ์รู้สึกเศร้าใจและไม่พอใจครูวิภามาก ชึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผู้แจ้งเรื่องการหนีเรียนของประพันธ์เพื่อนรักของเขาแก่ผู้ปกครอง นิพนธ์เดินจ้ำอ้าวเข้าไปหาครูวิภาด้วยอารมณ์ขุ่นมัวพร้อมทั้งพูดเหน็บแนมครูวิภาว่า “#ครูคงสะใจมากใช่ไหมที่ทำให้เพื่อนผมต้องลาออกจากโรงเรียน” ครูวิภาตอบว่า “#ครูไม่ได้รู้สึกสะใจใดๆอย่างที่เธอพูดเลย และไม่คิดด้วยซ้ำว่าพ่อแม่ของเขาจะตัดสินใจให้ลูกลาออก เพียงตั้งใจเชิญมาเพื่อหารือเรื่องที่เพื่อนเธอชอบหนีเรียนบ่อยๆเท่านั้นเอง” นิพนธ์มองครูสุภาด้วยสีหน้าไม่ค่อยพอใจและพูดว่า “#เรื่องของเขา” คำว่า “#เรื่องของเขา” ประโยคนี้เองทำให้ครูวิภาฉุนขึ้นมาทันที เพราะคำนี้มีความหมายโดยนัยยะทำนองว่า ครูไปยุ่งแหย่แส่หาเรื่องคนอื่นเขาทำไม
ครูวิภาตั้งสติพร้อมมองตานิพนธ์ด้วยแววตาที่เอาเรื่องและจริงจัง แต่แฝงด้วยความเมตตาแก่ลูกศิษย์อยู่ไม่น้อยพร้อมกล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องของเขา แต่เป็นเรื่องของเรา คือ ครูกับศิษย์ เมื่อนักเรียนหนีเรียนจึงเป็นเรื่องของครูกับนักเรียนและผู้ปกครองต้องมาหารือกันว่าจะป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร เป็นหน้าที่ของครูที่ต้องรับผิดชอบและห่วงใย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของเขาแต่เป็นเรื่องของเรา ครูวิภาย้ำอีกครั้ง ฟังให้ดีนะว่า #ไม่ใช่เรื่องของเขาแต่เป็นเรื่องของเรา”
จากเหตุการณ์วันนั้นนิพนธ์ลาป่วย3วัน พ่อเขามาเล่าให้ครูประจำชั้นฟังว่า “#หลังจากที่ลูกมาพบครูวิภาและครูได้ว่ากล่าวสั่งสอนแล้วเขาเครียดและเป็นไข้จึงมาโรงเรียนไม่ได้ครับ” นั่นเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ครูวิภาเล่าให้ผู้เขียนฟัง เมื่อครั้งที่เราสนทนากันเรื่องการปรับพฤติกรรมด้วยวิธีการ “#ขยี้เป้าเขย่าฝัน” คือการจี้ย้ำไปที่เป้าหมายความฝันของแต่ละคนว่าเขาต้องการอะไรต้องการเป็นอย่างไรและทำเพื่อใครนั้น เป็นวิธีการโน้มน้าวใจเพื่อปรับพฤติกรรมไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อหัวข้อไว้เช่นนั้น
ครูวิภานิ่งไปพักหนึ่งพร้อมจ้องหน้านิพนธ์ลูกศิษย์เช่นเดิมและกล่าวต่อ “ครูจำได้ว่าเธอเคยเขียนเป้าหมายความฝันของเธอไว้ว่า เธออยากเป็นตำรวจ ครูเองก็ชื่นชมและพูดกับครูอีกหลายคนว่า นิพนธ์อยากเป็นตำรวจน่าจะเหมาะกับเขาอยู่นะ เพราะเป็นนักเรียนที่มีบุคลิกดี มาดแมนและมีภาวะผู้นำสูง คงจะเป็นที่ภูมิใจของทั้งครูและพ่อแม่ ครูถามเธอหน่อยนะว่า หากเธอเป็นตำรวจจริง ๆ เมื่อเห็นคนถูกฉุดกระชากกระเป๋าและร้องขอความช่วยเหลือ เธอจะพูดว่า #เรื่องของเขา เช่นที่เธอพูดกับครูวันนี้รึ หรือหากเห็นเยาวชนกำลังเสพยาบ้าอยู่เธอก็จะพูดว่า #เรื่องของเขาเช่นนั้นหรือ คนที่คิดอย่างนี้หรือจะเป็นตำรวจที่ดีของสังคมไทยได้” สิ้นเสียงพูดของครูวิภา นิพนธ์จึงเดินออกจากห้องพักครูและไม่ได้พบกันอีก
กล่าวคือเมื่อทราบว่าใครมีเป้าหมายและความฝันอะไร หากเราต้องการให้เขาปรับความคิดและพฤติกรรมที่ส่งเสริมต่อการบรรลุเป้าหมายและความฝันนั้นๆ ก็ให้จี้ย้ำไปที่เป้าหมายแล้วขยายมาสู่พฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ เฉกเช่นที่ครูวิภาจี้ย้ำเป้าหมายของนิพนธ์ลูกศิษย์ที่มีความฝันอยากเป็นตำรวจ แต่มีความคิดและพฤติกรรมที่ไม่สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ต้องการจะเป็น คือการไม่ตระหนักเรื่องความรับผิดชอบในหน้าที่จนเขาฉุกคิดและตระหนักรู้อย่างหนักหน่วงจนเครียดดังที่กล่าวมา
ภายหลังนิพนธ์มาหาครูวิภาด้วยสีหน้าท่าทีที่นอบน้อมและบอกกับครูว่า “ผมขอโทษครับที่พูดกับครูเช่นนั้น ผมเข้าใจแล้วครับว่า ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกที่พึงใจกับความรับผิดชอบในหน้าที่นั้นอาจไม่อยู่ด้วยกันเสมอไป ผมขอบคุณครูมาก ๆ ที่ให้ข้อคิดแก่ผมและผมยังเชื่อว่าผมจะเป็นตำรวจที่ดีได้ครับ” เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งตอกย้ำให้ทั้งผู้เขียนและครูวิภาเชื่อมั่นในหลักการปรับความคิดและพฤติกรรมแบบขยี้เป้าเขย่าฝันว่าได้ผลดียิ่ง
และผู้อ่านทุกท่านก็สามารถนำไปใช้เพื่อการอบรมสั่งสอนและปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของลูกหลาน ลูกศิษย์ และลูกน้องของท่านได้เช่นกัน เพื่อช่วยให้เขาตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบกระทั่งมุ่งมั่นฟันฝ่าไปให้ถึงฝั่งฝันของแต่ละคน ชึ่งจะสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตและสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี