In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

พ่อค้ามะม่วงและหมู่บ้านป่าแหว่งสำนึกแห่งธรรมาภิบาล

mango-vendor

รั้งหนึ่งขณะหาซื้อผลไม้ที่ตลาดกลางคืนประตูเชียงใหม่ ผู้เขียนเหลือบไปเห็นมะม่วงที่ปลอกเปลือกสีเหลืองสวยสดงดงามและน่ารับประทานยิ่งนักจึงหยิบขึ้นมาดู และถามคนขายไปว่า “มะม่วงนี้หวานไหมครับ” คนขายผลไม้ตอบผู้เขียนด้วยน้ำเสียงเนิบช้าและลังเลนิดหน่อยว่า“อืม…ไม่แนะนำดีกว่าครับ” ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจจึงถามกลับไปว่า “อ้าว ! เพราะอะไรครับแล้วจะได้ขายไหมนี่?” คนขายผลไม้ตอบว่า “คือมันเป็นมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองสีสวยแต่ไม่ค่อยหวานและยังอมเปรี้ยวค่อนข้างมากอีกต่างหากครับ” ผู้เขียนพูดย้ำอีกว่า “สีสวยมากน่ากินจริงๆครับ” คนขายผลไม้ก็ยังยืนยันว่า “อึม..ไม่แนะนำดีกว่าครับ”

หลักความรับผิดชอบ คือการรับผิดชอบต่อความเป็นจริง

จากนั้นเขาจึงหยิบมะม่วงให้ผู้เขียนลองชิมดูหนึ่งชิ้น โอ้! ผู้เขียนรับรสได้ว่ามันทั้งอมเปรี้ยวและฝาดเอามากทีเดียว แต่ผู้เขียนก็ทำหน้าตาเฉยๆและบอกกับเขาไปว่ารสชาติมันไม่อร่อยจริงๆเช่นที่คุณบอกกับผมเลยครับ และถามเขาไปว่า “ราคาแพ็คเท่าไหร่ครับ” คนขายตอบว่ายี่สิบบาทครับ ผู้เขียนจึงบอกเขาไปว่า “ผมซื้อหนึ่งแพ็คครับ” พร้อมหยิบธนบัตรใบละ 20 บาทยื่นให้ผู้ขาย พ่อค้าขายมะม่วงกลับถามผู้เขียนอีกว่า “อ้าว!ในเมื่อรสชาติมันไม่อร่อยจะซื้อไปทำไมหละครับ” ผู้เขียนยืนนิ่งและตอบเข้าไปว่า “ผมซื้อความซื่อสัตย์ของคุณครับ” คนขายรีบกุลีกุจอหยิบมะม่วงแพ็คดังกล่าวใส่ถุงให้ผู้เขียนพร้อมรับธนบัตรใบละ 20 บาทที่ยื่นให้ด้วยสีหน้าท่าทีที่ยินดียิ่งที่ได้ขายมะม่วงดังกล่าว

2018

เมื่อขั้นตอนซื้อขายสิ้นสุดลง ผู้เขียนจึงชื่นชมเขาไปว่า “คุณเป็นพ่อค้าที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกหกและคดโกงลูกค้า หากเป็นผู้ขายคนอื่น ๆ ที่ผมเคยพบมาเขามักจะไม่บอกความจริงกับลูกค้า ดังนั้นผมจึงรู้สึกชื่นชมคุณมากๆที่เป็นคนซื่อสัตย์ เพราะการซื่อสัตย์และไม่กล้าคดโกงเงินยี่สิบบาทเป็นความรู้สึกทางคุณธรรมเดียวกันกับการไม่กล้าคดโกงเงินยี่สิบล้านเช่นเดียวกัน เพราะมันคือจิตสำนึกแห่งการรู้คุณรวมกับการรับผิดชอบและความสุจริตเช่นกัน และผมจะกลับไปกินมะม่วงแห่งความซื่อสัตย์จากร้านของคุณครับ” สิ้นเสียงพูดจากผู้เขียน คนขายผลไม้ยืนยิ้มแก้มปริและกล่าวขอบคุณผู้เขียนถึงสองครั้ง ขณะที่ผู้เขียนก็เดินจากมา

#กรณีปัญหาหมู่บ้านป่าแหว่งเชิงดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้นั้น ก็ด้วยเหตุจากการไร้ธรรมาภิบาลจึงร่วมกันก่อการณ์และก่อสร้างหมู่บ้านมาจนถึงบัดนี้นั่นเองโดยเฉพาะไร้ความโปร่งใสและไร้การมีส่วนร่วม จึงส่งผลให้ไ้ร้การวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้านนั่นเอง อนึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยในอนาคต

#พ่อค้าขายมะม่วงคนดังกล่าวประพฤติตนอย่างเปี่ยมธรรมาภิบาลครบทั้งหกข้อนั่นคือ 1)#หลักคุณธรรม คือมีความรู้สึกที่ดีงามต่อสิ่งที่คิดและกระทำ 2)#หลักนิติธรรม คือการยืนหยัดในหลักการตั้งราคาขายที่แพ็คละยี่สิบบาท 3)#หลักความโปร่งใส คือการกล้าเปิดเผยถึงรสชาติของมะม่วงที่แท้จริง 4)#หลักการมีส่วนร่วม นั่นคือเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อชิมมะม่วงและสื่อสารย้ำเตือนเกี่ยวกับรสชาติอย่างชัดเจน 5)#หลักความรับผิดชอบ คือการรับผิดชอบต่อความเป็นจริงของรสชาติมะม่วงที่สัมพันธ์กับราคาขายที่ตั้งไว้ 6)#หลักความคุ้มค่า นั่นคือคุ้มค่าที่สร้างความไว้วางใจให้แก่ลูกค้าและส่งผลให้ผู้เขียนกลายเป็นลูกค้าที่เชื่อมั่นและไว้วางใจในพ่อค้าคนดังกล่าวจนกลายเป็นลูกค้าที่ภัคดีต่อเขาตลอดมา

#และหากจะถามว่าควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ? คำตอบก็คือ ต้องแก้ไขปัญหาด้วยธรรมาภิบาลอีกเช่นกัน นั่นคือใช้หลักคุณธรรมคือมีความความรู้สึกที่ดีงามต่อกันในการจะร่วมกันเข้ามาคลี่คลายปัญหา,เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ,มีความโปร่งใส ,มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมคือป่าไม้ซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดินร่วมกัน กระทั่งสุดท้ายคำนึงถึงความคุ้มค่านั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะได้ผืนป่าคืนมาอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประเทศมากที่สุด #เพราะการอ้างเพียงหลักนิติธรรมในการณ์นี้ไม่ชอบด้วยธรรมอีกต่อไป

#ธรรมาภิบาลเป็นเครื่องมือทางคุณธรรมที่ใช้ทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่างหากเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และหัวใจสำคัญต้องเริ่มจาก “#หลักคุณธรรม”คือการมีความรู้สึกที่ดีงามกระทั่งรู้สึกเกรงกลัวและละอายต่อบาป จึงจะตามมาด้วยหลักการต่างๆจนครบทั้งหกข้อ ฤๅถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขัดเกลาให้ชนในชาติมีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ด้วยกระบวนการปรับความคิดและพฤติกรรมอย่างลึกซึ้ง มิใช่สอนให้ท่องจำเพียงหกหลักการที่ทำกันมาแต่เนิ่นนานแต่ไม่สามารถนำมาสู่การแก้ปัญหาได้

ตราบใดที่ธรรมาภิบาลในใจระดับบุคคลยังไม่เกิด การคาดหวังจะให้เกิดธรรมาภิบาลในสถาบันทางสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ทั้งชาวเชียงใหม่และชาวไทยทั้งประเทศคงพอจะเข้าใจและประจักษ์ได้ว่า ระหว่างพ่อค้าขายมะม่วงในตลาดกลางคืนประตูเชียงใหม่กับผู้นำประเทศที่ร่วมกันก่อการจนเกิดการก่อสร้างหมู่บ้านป่าแหว่งนั้น #ใครเปี่ยมธรรมาภิบาลมากกว่ากัน

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts