In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์
2018-2

หนึ่งปีที่ผ่านมาผู้เขียนได้สูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่อาวุโสที่สุดในตระกูลอายุ 91 ปี, สะใภ้ของตระกูลอายุ 60 กว่าปีและหลานสาวอายุประมาณ 3 ปี ยิ่งทำให้หวนระลึกถึงประวัติของพระปฏาจาราเถรีพระภิกษุณีอรหันต์ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักต่างวัยในวันเดียวกัน ทั้งพ่อแม่ในวัยสูงอายุ, พี่ชายและสามีวัยกลางคน, ลูกชายวัยเด็กและทารกในวันเดียวกัน จนทำให้เกิดการช็อคและเสียสติในที่สุด

#หากตระหนักได้ว่าชีวิตเราต้องตาย เพราะเป็นธรรมชาติที่หลีกหนีไม่พ้น

มื่อปฏาจาราได้พบพระพุทธองค์และได้ฟังพระธรรมเทศนาและด้วยพุทธานุภาพ นางจึงได้สติจนบรรลุโสดาบันและบวชเป็นพระภิกษุณีบำเพ็ญบุญด้วยการเจริญภาวนาอยู่เนืองๆ จนวันหนึ่งก่อนจะเดินขึ้นกุฏิจึงตักน้ำมาล้างเท้า #น้ำขันแรกเมื่อราดเท้าแล้วน้ำก็ไหลไปได้นิดหนึ่ง เปรียบเหมือนคนที่ตายในปฐมวัยก็มี #ขันต่อมาราดเท้าแล้วน้ำก็ไหลไปได้อีกนิดหนึ่ง เปรียบเหมือนคนที่ตายในมัชฌิมวัยก็มี #ขันต่อมาราดเท้าแล้วน้ำก็ไหลไปได้อีกนิดหนึ่ง เปรียบเหมือนคนเราตายในปัจฉิมวัยก็มี การพิจารณาธรรมดังกล่าวทำให้พระภิกษุณีปฏาจาราเถรีบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

ดังนั้นหากเข้าใจชีวิตเข้าใจธรรมอย่างแท้จริงแล้ว จะไม่พูดว่า “#ตายก่อนวัยอันควร” เพราะวัยใดๆก็ตายได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆทั้งอดีตจนถึงปัจจุบันที่ล้วนส่งผลต่อกันทั้งสิ้น ในพุทธธรรมจึงได้กล่าวถึงสิ่งที่เรายากที่จะล่วงรู้ได้นั่นคือ #เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ #เราจะตายที่ไหน #เราจะตายอย่างไร และ #ตายแล้วเราจะไปที่ไหน ดังนั้นหากตระหนักในพุทธปรัชญาชีวิตดังกล่าวได้ จะทำให้เราดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาทและเจริญมรณานุสติอยู่เนืองๆ

#การเจริญมรณานุสติ10 หมายถึงการพิจารณาดูซากศพที่เสียชีวิตในรูปแบบต่างๆสิบอย่าง ซึ่งผู้เขียนจะไม่อธิบายรายละเอียดในที่นี้ ก็ด้วยในยุคสื่อสารสังคมออนไลน์นั้นเราสามารถจะเห็นข่าวการตายและซากศพแบบต่างๆได้ไม่ยากนัก จึงเอื้อต่อการเจริญกรรรมฐานแบบนี้อยู่ไม่น้อย #อย่างน้อยหากเห็นแล้วเกิดความสลดใจและไม่ประมาทในชีวิตก็เป็นการเห็นแบบเจริญภาวนาได้แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นเป็นเช่นไรเท่านั้นเอง

พุทธปรัชญาอธิบายถึงการตายไว้สามประการนั่นคือ 1) #ขณิกมรณะ คือการตายทุกขณะจิตและทุกลมหายใจเข้าออก แม้ในแง่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ยืนยันได้ว่าเซลล์ของคนเรานั้นก็ตายผลัดเปลี่ยนกันอยู่ทุกๆวินาที 2)#สมมุติมรณะ คือการตายดับสูญของกายสังขารแล้วนำไปเผาหรือฝัง 3) #นิสสรณะมรณะ คือการตายแบบดับทุกดับกิเลสโดยสิ้นเชิงหรือนิพพานนั่นเอง หากเข้าใจและใคร่ครวญอยู่เนืองๆจะไม่ประมาทในชีวิตเพราะเกิดสติจากการเจริญมรณานุสตินั่นเอง

2018

#ลองใคร่ครวญดูสิครับว่า ในหนึ่งปีที่ผ่านมาเราได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและรู้จักกันในแวดวงต่างๆไปกี่คนแล้ว ทุกๆคนต่างทะยอยจากเราไปต่างอาการ ต่างเวลา และต่างสถานที่ ไปที่ละคนทีละคน เดี๋ยวก็ต้องวนมาถึงเราจนได้ เป็นอันหลีกหนีไม่พ้น การตายเป็นความทุกข์สามัญ การกลัวตายยิ่งเป็นความทุกข์ และการไม่ตระหนักว่าชีวิตเราต้องตายยิ่งสร้างทุกข์ได้ไม่สิ้นสุด อาจก่อกรรมทำเข็นทั้งต่อตนเองและผู้อื่นทั้งมโนกรรมวจีกรรมและกายกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

#หากตระหนักได้ว่าชีวิตเราต้องตาย เพราะเป็นธรรมชาติที่หลีกหนีไม่พ้น เราจะเจริญมรณานุสติอยู่สม่ำเสมอ จนเกิดสติ ไม่ประมาท ไม่อาฆาตมาดร้ายต่อใครๆและใดๆ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใครๆตลอดชีวิตแล้วค่อยมาอโหสิกรรมต่อกันในตอนใกล้จะสิ้นใจ เพราะหลายคนยังไม่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกันตอนใกล้จะสิ้นใจด้วยซ้ำ จึงไม่รู้จะไปอโหสิกรรมต่อกันได้อย่างไร

ปีใหม่ 2561 นี้ ผู้เขียนขออำนวยพรแด่กัลยาณมิตรทุกๆท่านด้วยคติธรรมเรื่องมรณานุสติดังที่ได้กล่าวมา จึงขอเชิญชวนทุกๆท่านอโหสิกรรมต่อกันในตอนสิ้นปี ทั้งกายกรรมวจีกรรมและมโนกรรม ให้อภัยกันและกัน #ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปขอเชิญชวนกัลยาณมิตรทุกท่านโปรดสื่อสารไปแสดงความขอบคุณขอโทษและให้อภัยต่อกัน เพราะการให้อภัยทานนั้นมีพลังสูงสุดในฝ่ายของการทำบุญด้วยการให้ทานทั้งปวง หากทำเช่นนี้ได้ ชีวิตในปีใหม่นี้จะเปี่ยมกุศลและมิตรภาพตลอดจนเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตได้ดียิ่ง ทั้งยังนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรมได้ในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสหศาสตร์, ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok, กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง, Best Practice Award 2017 สาขาวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม

Recommended Posts