“สวัสดีครับ ระยะนี้ธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง” ผู้เขียนถาม “ดีค๊ะอาจารย์” กัลยาณมิตรตอบ ขณะที่ผู้เขียนก็ถามต่อว่า “โอ้!โชคดีจังเลยครับ ผมพบคนส่วนมากมักจะบ่นให้ฟังว่า ธุรกิจไม่ค่อยดีต้องต่อสู้อดทน หรือทำธุกิจอื่นเสริมอีกหลายอย่าง ทั้งๆที่ทุนก็มีน้อย ไม่อาจฝากความหวังไว้กับธุรกิจเดิมเพียงอย่างเดียวได้ แล้วคุณมีกลยุทธอย่างไรครับ ธุรกิจจึงไปได้ดี เพราะเท่าที่ทราบธุรกิจของคุณก็มีคู่แข่งอยู่มากทีเดียวมิใช่หรือ”
“ใช่ค๊ะ ตอนแรกก็เหนื่อยมาก แต่หนูทำการตลาดเชิงรุกค๊ะ คือความที่เราเป็นร้านขนาดเล็กจึงแข่งขันกับภัตตาคารอาหารจีนที่มีมากมายรวมทั้งภัตตาคารในโรงแรมได้ยาก จึงหันมาดูว่าจุดแข็งของเราคืออะไร ก็พบว่า เรามีกุ๊กอาหารจีนฝีมือเยี่ยม แต่ลูกค้าเราไม่มากเท่าโรงแรม จึงหาข้อมูลดูว่าจุดอ่อนของแผนกอาหารและเครื่องดื่มในโรงแรมคืออะไร และพบว่าเมื่อโรงแรมรับจัดงานเลี้ยงหลายๆงานพร้อมกัน เขาจะทำอาหารไม่ทัน กระทั่งกุ๊กอาหารจีนฝีมือขั้นเทพก็ไม่มี หนูจึงเข้าไปเสนอรับทำอาหารจีนส่งให้งานเลี้ยงของโรงแรมต่างๆ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี และมีงานเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ กลายเป็นว่าจุดแข็งของเราไปช่วยอุดจุดอ่อนให้โรงแรมชั้นนำค๊ะ”
#เราทุกคนล้วนมีศักยภาพ
เ ฉกเช่นเดียวกับ ช่างไฟฟ้าและซ่อมแซมปัญหาเล็กๆน้อยๆในบ้านคนหนึ่ง ที่เคยมาซ่อมแซมและต่อเติมไฟฟ้าในบ้านให้ผู้เขียน ที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งส่งมาให้ เล่าให้ฟังว่า เขามิใช่พนักงานประจำของบริษัทแต่เป็นผู้รับงานรายย่อยจากบริษัท เดิมทีเขาก็เป็นช่างที่รับงานทั่วไป แต่ไม่ค่อยมีใครจ้างทั้งๆที่เขารู้ดีว่าปัญหาการซ่อมแซมเล็กๆน้อยๆในบ้านนั้นมีอยู่เสมอ แต่บริษัทขนาดใหญ่ไม่มีบริการด้านนี้ เขาและเพื่อนจึงเข้าไปเสนอรับงานเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีและมีลูกค้าใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เขาและเพื่อนมีงานทำและมีรายได้ บริษัทเองก็มีสายงานบริการย่อยนี้เกิดขึ้น โดยมิต้องจ้างพนักงานประจำ แต่ยังเพิ่มรายได้ให้บริษัทอีกทางหนึ่งด้วย
จากสองตัวอย่างที่ผู้เขียนนำเสนอมานั้น จะเห็นได้ว่าทั้งเจ้าของร้านอาหารจีนขนาดเล็กและช่างซ่อมแซมบ้านทั่วไปนั้น ต่างก็มีวิธีคิดที่เหมือนกัน นั่นคือมองหาจุดเด่นหรือจุดแข็งของตัวเองที่มีอยู่ว่า จะไปเติมเต็มจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของธุรกิจประเภทเดียวกันที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร จนนำมาสู่การขยายงานและรายได้ในที่สุด ซึ้งเป็นรูปแบบหนึ่งของ การคิดด้านดี (positive thinking) นั้่นคือมองหาโอกาศดีๆให้รอบด้านในจุดที่เป็นอยู่ และการคิดเช่นนี้ยังถือเป็น ความคิดที่สร้างสรรค์ (creative thinkink) อีกด้วย นั่นคือคิดออกนอกกรอบเดิมและแสวงหาวิธีการต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
การคิดเช่นนี้อาจเรียกว่าเป็นความคิดแบบหัวก้าวหน้าก็ได้ เป็นการคิดแบบไม่หยุดนิ่งโดยแสวงหาแนวทางที่ดีขึ้นเรี่อยๆ และไม่ยอมจำนนต่อปัญหาต่างๆ ซึ่งวิธีคิดและอุปนิสัยเช่นนี้เป็นหนึ่งใน7อุปนิสัยของผู้ที่ทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จ ตามที่สตีเฟน อา โควีย์ (Stephen R.Covey) ได้เขียนไว้ในหนังสือ 7 อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผล (the 7 habits of highly effective people) ซึ่งอุปนิสัยแบบโปรแอ็คทีฟนี้ ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทยอย่างจริงจังแต่มีความหมายว่า “เป็นยิ่งกว่าการกระทำเชิงรุก” ซึ่งนิยมสื่อสารกันมาจากแวดวงบริหารธุรกิจก่อน จากนั้นจึงขยายวงกว้างออกไปสู่ทุกสาขาอาชีพ
โปรแอ็คทีฟเป็นอุปนิสัยที่เราต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของเราเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยภายนอก ทั้งพฤติกรรม การให้คุณค่า ความสัมพันธ์ การตัดสินใจ และผลลัพธ์ต่างๆในฐานะที่เป็นมนุษย์ซึ่งมีศักยภาพสูงสุดกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใด คนโปรแอ็คทีฟจะไม่ยอมให้เงื่อนไขมาบ่งการชีวิตและป้ายความผิดให้สถานการณ์ภายนอก แต่จะใคร่ครวญอย่างมีสติให้รอบด้านแล้วแสวงหาช่องทางที่สร้างสรรค์ให้สัมพันธ์กับผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นเช่นไรอากาศจะร้อนจะหนาวดาวจะตกแผ่นดินไหวค้าขายไม่ดี เขาก็จะยังมีชีวิตชีวาและแสวงหาลู่ทางอย่างมีสติเสมอ เฉกเช่นเจ้าของร้านอาหารจีนและช่างซ่อมแซมบ้านที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมาแต่ต้นนั่นเอง
ธ รรมชาติโดยแท้ของมนุษย์เรานั้น เป็นคนโปรแอ๊คทีฟมาแต่กำเนิด ในแง่อภิปรัชญา (metaphysics) ผู้เขียนขอบอกว่า เราโปรแอ๊คทีฟตั้งแต่อดีตชาติที่เลือกจะมาเกิดแล้ว แต่ด้วยจุดมุ่งหมายและผลลัพธ์ที่ต่างกัน วิธีคิดและวิถีปฏิบัติแบบโปรแอ็คทีฟจึงมีรูปแบบและระดับที่ต่างกัน เช่น ในด้านการศึกษาขณะที่บางคนมีจุดมุ่งหมายแค่จบปริญาตรี แต่อีกคนอาจตั้งเป้าหมายที่จบปริญญาเอก เป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านั้นต่างก็โปรแอ็คทีฟในเป้าหมายที่แตกต่างกันนั่นเอง การมองแบบโปรแอ็คทีฟจะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากความคิดภายในสู่ภายนอก ทั้งยังต้องเป็นความคิดด้านดีและสร้างสรรค์อีกด้วย
แล้วจะฝึกให้ตนเองมีอุปนิสัยแบบโปรแอ็คทีฟได้อย่างไร ฝึกได้แน่นอน นั่นคือตั้งสติให้ดีและมีเป้าหมายในใจให้ชัดเจน ว่าต้องการอะไรและอย่างไร พิจารณาเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ให้รอบด้าน แสวงหาแนวทางแบบคิดไปข้างหน้า และลงมือทำในสิ่งที่สำคัญและสัมพันธ์ต่อเป้าหมายด้วยตนเอง โดยไม่นำปัจจัยภายนอกมาเป็นข้ออ้าง และที่สำคัญต้องเป็นความคิดด้านดีและเป็นปัจจุปันเช่น คิดว่าฉันเป็นคนเก่ง ฉันเป็นที่หนึ่ง ฉันเป็นคนที่ทำสิ่งใดก็สำเร็จเป็นต้น ซึ่งความคิดเช่นนี้ไปสอดคล้องกับ จิตวิทยาเอ็นแอลพี (neuro-linguistic programming) ที่เน้นให้สื่อสารด้านดีๆเข้าสู่สมองและลงมือทำทุกอย่างให้เป็นปัจจุบัน ไม่พูดทางลบ
ไม่พูดว่าถ้าหาก…ไม่พูดว่าฉันจะ..เพราะนั่นเป็นความคิดและคำพูดของคนที่มีอุปนิสัยแบบรีแอ็คทีฟซึ่งไร้ประสิทธิผลเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้นวิธีคิดดังกล่าวยังสอดคล้องกับหลักการทางพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการมองเข้ามาในตน พัฒนาจากความคิดภายในไม่ไปโทษสิ่งแวดล้อม คิดแต่ด้านดีซึ่งจะทำให้จิตใจผ่องใสในที่สุด กระทั่งไม่สื่อสารด้านลบนั่นคือไม่พูดเท็จ ส่อเสียด หยาบคาย และเพ้อเจ้อ ซึ่งการสื่อสารเช่นนั้นจะสร้างพลังด้านลบแก่ตนเอง
เราทุกคนมีศักยภาพและมีสิทธิในการจะเลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยความต้องการจากพลังภายในของเราเอง มิใช่สิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยากยิ่ง แต่การหันมาปรับมุมมองเพื่อแสวงหาโอกาศดีๆแม้ในเหตการที่ย่ำแย่แล้วลงมือทำทันทีและสม่ำเสมอ แล้วจะพบว่าไม่นานนักเราจะถึงผลลัพธ์ที่ตั้งใจไว้ และนี้แหละคือความคิดและอุปนิสัยของผู้ทรงประสิทธิผลที่จะช่วยให้เราทุกคนถึงเป๋าหมายได้อย่างสุขใจ
ดังนั้นเมื่อธรรมชาติให้ศักยภาพที่แสนวิเศษแก่เราที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ก็เหลือแค่เราจะต้องปรับความคิดให้ดีและสร้างสรรค์ ผสานกับอุปนิสัยแบบโปรแอ็คทีฟด้วยวิธีการที่กล่าวมาให้ดีเท่านั้นเอง หากทำได้เราจะกลายเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่ทั้งเปี่ยมสุขและประสบความสำเร็จโดยทั่วกัน