In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

วันแห่งความสุขสากล

gh

ความสุขเป็นความต้องการที่เป็นสากลของมนุษยชาติทั่วโลก ด้วยองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาเป็นวันแห่งความสุขสากล เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั่วโลกใส่ใจในเรื่องของความสุข ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ที่พึงได้รับ

สำหรับที่มาของวันแห่งความสุขสากลนั้นเกิดจากองค์การสหประชาชาติได้รับรู้ถึงความสุขมวลรวมของประชาชนในประเทศภูฏาน ซึ่งจากการวัดความสุขแล้วพบว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งควรประชาสัมพันธ์ให้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับรู้ กระทั่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มประเทศต่างๆให้หันมาใส่ใจสร้างความสุขที่เป็นสากลร่วมกัน

การสร้างความสุขสากลนั้น มีวิธีการและหลักเกณฑ์หลายประการแต่สำหรับบทความนี้ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายเพียงห้าประเด็นเท่านั้น นั่นคือ 1)มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว 2)มีความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน 3)มีความเข้มแข็งของเครือข่ายทางสังคม 4)มีความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ 5)มีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา ซึ่งอธิบายพอสังเขปได้ดังนี้

1) มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ครอบครัวถือเป็นสถาบันพื้นฐานในสังคมที่หล่อหลอมบุคคลให้เป็นคนดีมีจิตใจเมตตากรุณาและเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวนั้นเริ่มจากมีความรักความอบอุ่นความเข้าใจที่ดีต่อกันของบุคคลต่างเพศต่างวัย ตลอดจนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครอบครัว กระทั่งร่วมกันชื่นชมยินดีในสิ่งที่ดีงามและในความสำเร็จต่างๆของบุคคลในครอบครัว พร้อมทั้งเป็นสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนดูแลเอาใจใส่ต่อกันทั้งในยามสุขและยามทุกข์ร่วมกัน

2) มีความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน ด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยาได้อธิบายถึงความสุขและความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ไว้ว่า มนุษย์ทุกคนต้องการมิตรภาพและความผูกพัน ซึ่งมิตรภาพและความผูกพันนั้นจะช่วยทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุข ทั้งความผูกพันในปัจเจกชนและชุมชน นอกจากนั้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในชุมชนยังส่งผลให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจซึ่งกันและกันอีกด้วย

3) มีความเข้มแข็งของเครือข่ายในสังคม เครือข่ายในสังคมนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ เช่น เครือข่ายของเด็กและเยาวชน เครือข่ายของสตรีและแม่บ้าน เครือข่ายของพ่อบ้าน เครือข่ายสมาคมชมรมผู้สูงอายุ ตลอดจนเครือข่ายสมาคมชมรมของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น หากเครือข่ายต่างๆในสังคมมีความเข้มแข็งและมีความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลต่อกันแล้วจะส่งผลให้ทุกคนมีความสุข

4)มีความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ หมายถึงสังคมที่มีความเท่าเทียมและให้เกียรติกันและกันทั้งชาติพันธ์ สีผิว ความหลากหลายทางเพศ ความพิการและต่างวัย ตลอดจนการทำหน้าที่การงานและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่างๆที่เท่าเทียมและเหมาะสมกับเพศภาวะสุขภาพและอายุของแต่ละบุคคล เพราะหากบุคคลได้รับความเท่าเทียมและการยอมรับนับถือในสังคมแล้ว จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสุขทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคมได้อีกทางหนึ่งนั่นเอง

5) มีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สำหรับค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนานั้นหมายถึงระบบความคิดความเชื่อของบุคคลและชุมชนที่เอื้อต่อการสร้างความรักความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูล และไร้การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ตลอดจนมีความเชื่อมั่นในศาสนาที่แต่ละคนนับถือ กระทั่งนำหลักธรรมทางศาสนามาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อสร้างค่านิยมแห่งคุณงามความดีให้เกิดความสงบสุขทางจิตใจในที่สุด

หลักการสร้างความสุขสากลทั้งห้าประการดังกล่าว ผู้เขียนได้สังเคราะห์มาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคล ครอบครัว สังคม ศาสนา และคุณค่าของความเป็นมนุษย์เท่านั้น ยังมีปัจจัยพื้นฐานอย่างอื่นอีกหลายประการ แต่แค่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ห้าข้อดังกล่าว ก็จะสามารถสร้างความสุขที่เป็นสากลได้ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคมได้โดยทั่วกัน

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ wuttipong academy ,ประธานมูลนิธิเอ็มพลัส ,กรรมการบริหารมูนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุงและประธานกองทุนกิจกรรมทางสังคมเพื่อสุขภาพจิต 12/สค/63

Recommended Posts