In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ทรัมป์มองโลกด้านบวกหรือหลอกตนเอง

s__2334729
#ทรัมป์มองโลกด้านบวกหรือหลอกตนเอง (ขอบคุณภาพจากThe standard)

การที่ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิดนายทีนในประเทศอเมริกาว่า “การที่อเมริกามียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกนั้นเป็น #ตราเกียรติยศ ของสหรัฐสะท้อนศักยภาพการตรวจโรคที่ดีที่สุดกว่าประเทศอื่น” คำกล่าวเช่นนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากผู้คนทั่วโลกว่าเป็นการมองโลกด้านบวกหรือหลอกตัวเอง และมีกัลยาณมิตรหลายคนได้ถามผู้เขียนมาว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดนั้นเป็นการมองโลกด้านดีใช่หรือไม่ จึงขออธิบายดังต่อไปนี้

ด้วยปัจจุบันมีการพูดเรื่องการมองบวก หรือมองโลกในด้านดีกันมากขึ้น ทั้งการเขียน การพูด แต่ส่วนใหญ่นักเขียนและวิทยากรมักจะยกแต่ตัวอย่างเหตุการณ์ที่มองด้านบวก ไม่ค่อยพบการอธิบายถึงเกณฑ์ชี้วัดการมองบวก ผู้เขียนเคยนำเสนอแนวทางเรื่องเกณฑ์มองบวกอย่างมีประสิทธผล ไว้ในหนังสือหลายเล่มว่าการมองบวกนั้นควรประกอบด้วย 5ส.นั่นคือการมีสติสัมปชัญญะ สมาธิ สมเหตุผล สร้างสรรค์ และสร้างมิตร หากนำคำพูดของทรัมป์มาวิเคราะห์ดูว่าครบเกณฑ์5ข้อนี้หรือไม่โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. “#สติสัมปชัญญะ” การมีความระลึกได้ และรู้ตัวทั่วพร้อมต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการระบาดของโควิดนายทีนในอเมริกาที่ทวีคูณขึ้นอย่างมากนั้น เมื่อดูตามปรากฏการณ์ที่เป็นจริงในชีวิตจะช่วยให้เกิดปัญญาพิจารณาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในด้านดีคือมีเหตุผลและมีความรับผิดชอบ จะต้องรีบแก้ไขไม่ให้เดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น จะช่วยแยกแยะระหว่างการมองบวกกับการหลอกตนเองออกจากกันได้

2. “#สมาธิ” การมีสมาธิ หมายถึงเมื่อเกิดสถานการณ์ใด ๆ ในชีวิตและมีความตั้งใจ ใส่ใจสนใจในสิ่งที่กำลังทำจะช่วยให้เกิดการใคร่ครวญ ดูรายละเอียดต่าง ๆ ของงานให้รอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่สัมพันธ์กับการแพร่ระบาดโควิดนายทีนและการจัดการที่เหมาะสม จะนำมาสู่ความรับผิดชอบและระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเสียหายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

3. “#สมเหตุผล” การวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและการงานให้สมเหตุผล โดยดูว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล อะไรสัมพันธ์กับอะไร อะไรไม่สัมพันธ์กับอะไร และจะส่งผลกระทบอย่างไร เหตุผลนั้นๆอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคมด้วยหรือไม่อย่างไร ดังเช่นที่ทรัมป์กล่าวว่าการแพร่ระบาดสูงสุดในโลกเป็น “ตราเกียรติยศ” นั้น เป็นการพูดที่ไม่น่าจะสมเหตุผล

4. “#สร้างสรรค์” การมองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างสร้างสรรค์ หมายถึงการไม่ทุกข์ระทมตรมใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มองเห็นประโยชน์ มองเห็นโอกาส มองเห็นความหวัง มองเห็นความหมายที่ดีงาม และมองเห็นคุณค่าในเหตุการณ์ที่เกิด ดังนั้นทรัมป์น่าจะมองเห็นโอกาสและเรื่องดีๆในแง่มุมอื่นๆจากการระบาดของโควิดมากกว่าเห็นว่าเป็น “ตราเกียรติยศ”ของสหรัฐอเมริกาหรือไม่อย่างไร

5. “#สร้างมิตร” การตัดสินใจกระทำการใด ๆ หรือเหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วส่งผลให้คนเรามีวิธีคิด วิธีพูด วิธีทำที่ส่งผลต่อการสร้างและสานความสัมพันธ์ทั้งส่วนตัว ครอบครัวและสังคมได้ สิ่งนั้นถือว่าเป็นการมองบวก ส่วนการมองของทรัมป์ว่า เป็นตราแห่งเกียรติยศนั้น เป็นที่ชื่นชมยินดีของคนในประเทศและต่างประเทศหรือไม่ หากไม่เป็นที่ชื่นชมยินดีก็คงไม่เป็นการสร้างมิตรนั่นเอง

#เพราะฉะนั้นจากเหตุการณ์ที่ทรัมป์กล่าวว่าการระบาดของโควิชนายทีนสูงที่สุดในโลกที่อเมริกานั้น เป็น “ตราเกียรติยศ” จึงต้องวิเคราะห์ดูว่าเป็นการมองอย่างสมเหตุผลหรือไม่ และการระบาดนั้นสัมพันธ์กับการจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพหรือไม่จึงส่งผลให้การระบาดสูงเช่นนั้น

และการสื่อสารของทรัมป์เช่นนั้นได้รับการชื่นชมยินดีหรือตำหนิจากประชาชนในประเทศและประชาคมโลกหรือเปล่า และการพูดเช่นนั้นสานสัมพันธ์และสร้างมิตรหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่ทรัมป์พูดไม่อาจอธิบายเข้าได้กับหลักการทั้งห้าข้อของการมองบวก เพราะฉะนั้นผู้อ่านก็คงตัดสินใจเอาเองได้ว่าการสื่อสารของทรัมป์ดังกล่าวเป็นการมองบวกหรือหลอกให้ตนเองและผู้อื่นสบายใจชั่วคราว

#การมองบวกหรือด้านดีนั้นสำคัญต่อชีวิตและสังคมมาก เพราะในโลกของความจริงเรามิอาจควบคุมชีวิตและสังคมให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่การมีจิตใจที่ดีงามและสงบสุขด้วยการมองโลกด้านดีอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามความเป็นจริงจะช่วยให้จิตใจอิ่มเอิบเบิกบานนำมาสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆได้ดีในที่สุด #ด้วยชุดวิธีคิดแบบทรัมป์ถึงวันนี้ท่านคิดว่าเขานำอเมริกาแก้ปัญหาโควิดได้ดีแล้วหรือยัง

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recommended Posts