In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

โรคขาดความยับยั้งชั่งใจ

angry

ขับรถผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันนิดหน่อยก็ทะเลาะวิวาทกระทั่งทำร้ายกันถึงแก่ชีวิต , พ่อแม่ห้ามออกบ้านในวันหยุดเพราะลูกขอไปเที่ยวที่เสี่ยงอันตรายไม่พอใจพ่อแม่จึงหุนหันพลันเล่นขับรถออกบ้านจนเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำเกือบถึงแก่ชีวิต , ทะเลาะกับแฟนหนุ่มบ่อยครั้งจนแฟนขอเลิกสุดท้ายน้อยใจแฟนตัดสินใจแขวนคอตายเสียชีวิต , หึงโหดระแวงภรรยานอกใจจึงตัดสินใจวางยาพิษทั้งลูกและภรรยาจากนั้นจึงกรอกยาพิษฆ่าตัวตายตาม เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจทั้งสิ้น

และกรมสุขภาพจิตรายงานว่าสาเหตุของการฆ่าตัวตายในปี 2561 ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ เช่น น้อยใจถูกดุด่าตำหนิติเตียนทะเลาะกับคนใกล้ชิดร้อยละ 48.7 สาเหตุจากความรักเชิงชู้สาวและหึงหวงร้อยละ 22.9 รวมเป็นร้อยละ71.6 ส่วนในปี2562ก็มีแนวโน้มออกมาทำนองเดียวกัน รากเหง้าของสาเหตุเหล่านี้ล้วนเกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจทั้งสิ้นจึงหุนหันพลันเล่นตัดสินใจทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิต

ผู้เขียนจึงใคร่นิยามพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นจนทำร้ายตนเองและผู้อื่นเหล่านั้นว่าคืออาการขาดความยับยั้งชั่งใจนั่นเอง ความยับยั้งชั่งใจ(Restrain)คือ ความสามารถในการควบคุมความคิดและอารมณ์ของตนเพื่อใคร่ครวญและทบทวนดูผลดีผลเสียผลกระทบและความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบก่อนจะตัดสินใจกระทำการใดๆลงไป ผู้ที่มีความยับยั้งชั่งใจจะตัดสินใจกระทำการณ์ใดๆที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองผู้อื่นและสังคม

หากอ้างตามพุทธปรัชญาก็สามารถอธิบายได้ว่าความยับยั้งชั่งใจนั้นมีสองอย่างคือความยับยั้งชั่งใจที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติและเกิดจากการฝึกฝนที่แนบเนื่องมากับการพัฒนาสตินั่นเอง มีคำที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับคำว่าความยับยั้งชั่งใจหลายคำ คือคำว่า สติ(ความระลึกได้),สัมปชัญญะ(ความรู้ตัวทั่วพร้อม),ทมะ(ความข่มใจ),และสัญญมะ(ความยับยั้งชั่งใจ) ทั้งหมดนี้เป็นความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการเลี้ยงดูประสบการณ์และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

แต่ความยับยั้งชั่งใจนั้นสามารถสร้างและพัฒนาได้โดยเริ่มจากการพัฒนาสติตามหลักการสติปัฏฐานสี่แนวพุทธปรัชญานั่นเอง ที่ผู้เขียนใช้คำว่าพุทธปรัชญาแทนคำว่าพุทธศาสนานั้นก็เป็นความใจกว้างในทางวิชาการที่เปิดโอกาสให้ทบทวน ทดสอบ พิสูจน์และวิพากษ์วิจารณ์หลักการและความรู้เหล่านั้นได้ว่าเป็นจริงหรือไม่และอย่างไร กล่าวคือหากฝึกฝนด้วยการหมั่นรับรู้ความคิดและอารมณ์ของตนเองอยู่เนื่องๆ เช่น คิดก็มุ่งรับรู้ว่าเป็นเพียงการคิดๆๆๆ ,รู้สึกอย่างไรก็มุ่งรับรู้ความรู้สึกนั้นไปเรื่อยๆเช่นรู้สึกเศร้าก็รับรู้ว่าเศร้าๆๆ ,รู้สึกโกรธก็มุ่งรับรู้ว่าโกรธๆๆๆ, รู้สึกน้อยใจก็มุ่งรับรู้ว่าน้อยใจๆๆ ฯ หากทำได้เช่นนี้อย่างสม่ำเสมอจะพัฒนาสติสัมปชัญญะและสัญญมะคือความยับยั้งชั่งใจให้ดีขึ้นเรื่อยๆในที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาความยับยั้งชั่งใจในแบบง่ายๆได้อีกหลายวิธีคือ

1) ฝึกฝนหายใจเข้าออกยาวๆ กล่าวคือเมื่อพบความคิดและอารมณ์ความเครียดความวิตกกังวล ความผิดหวัง ความเศร้าโศก ความโกรธแค้นและเสียใจใดๆก็ตามให้หยุดนิ่งด้วยการนั่งหรือยืนหรือนอนแล้วดูลมหายใจของตนเองเข้าออกยาวๆ โดยขณะหายใจเข้าให้นับ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และขณะหายใจออกให้นับ ห้า สี่ สาม สอง หนึ่ง มุ่งตามดูลมเข้าลมออกทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆประมาณ 15 – 20 นาทีทุกๆครั้งที่เกิดความคิดและอารมณ์ลักษณะดังกล่าว

2)หยุดคิดในเรื่องที่กระตุ้นอารมณ์ด้านลบ กล่าวคือขณะที่คิดถึงสิ่งๆต่างๆที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบเช่นเครียด วิตกกังวลหม่นหมองเศร้าใจโกรธแค้นผิดหวังเสียใจฯล้วนเกิดจากการคิดด้านลบทั้งสิ้น ดังนั้นการหยุดคิดลบทันทีและหันไปคิดด้านบวกจะทำให้อารมณ์ที่ขุ่นมัวอยู่นั้นพลิกผันเป็นอารมณ์ด้านบวกขึ้นได้ก็จะช่วยยับยั้งการกระทำในทางลบได้เช่นกัน

3)ย้ายความสนใจไปที่เหตุการณ์อื่น คำว่าย้ายความสนใจไปที่เหตุการณ์อื่นนั้นหมายความว่าในขณะที่เรากำลังเผชิญความคิดและอารมณ์ที่กระตุ้นให้รู้สึกในทางลบต่างๆที่จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นทำร้ายตัวเองและผู้อื่นนั้น ให้หันเหความสนใจไปที่เหตุการณ์อื่น ซึ่งจะช่วยให้ตัวเราลืมความคิดและอารมณ์ที่เผชิญอยู่เดิมนั้นได้ระยะหนึ่ง

4)หนีออกจากสถานการณ์ กล่าวคือเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้งใดๆก็ตามส่วนใหญ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งคู่กรณีมักจะหุนหันพลันแล่นเข้าหากัน จึงขาดความยับยั้งชั่งใจและทำร้ายกันและกันหรือทำร้ายตนเอง ดังนั้นหากหยุดคิดตั้งสติระงับอารมณ์จากนั้นให้กล่าวขอโทษและชื่นชมกันแล้วเดินหลีกเลี่ยงออกจากสถานการณ์ไปก็จะช่วยให้เกิดความยับยั้งชั่งใจและคลี่คลายเหตุการณ์ให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้นหากทุกท่านสามารถฝึกปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานสี่ในแนวพุทธปรัชญาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งวิธีการพื้นฐานอีกสี่ประการที่กล่าวมาได้ ก็จะช่วยพัฒนาสติสัมปชัญญะทมะและสัญญมะคือความยับยั้งชั่งใจได้เป็นอย่างดี จะช่วยป้องกันความหุนหันพลันแล่นและไม่กระทำการใดๆที่ทำร้ายตนเองและผู้อื่นในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

Recommended Posts