In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ทำอย่างไรให้สุขใจในวัยเกษียณ

retired-elderly-asian

หลังจากจบปริญญาเอกและอายุครบ60ปีแล้ว เป้าหมายชีวิตของผมไม่ใช่การเป็นช่างทำผมหรือครูสอนทำผมอีกต่อไป แต่คือการเป็นครูผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่างๆในการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจทำผมของเมืองไทย ด้วยการเขียนตำราแห่งความสำเร็จและเดินสายบรรยายให้ความรู้ไปทั่วประเทศกับภาคราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังมีเป้าหมายและความฝันที่จะรณรงค์ให้ผู้ประกอบวิชาชีพช่างทำผมทั่วประเทศรวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมกันสร้างสภาวิชาชีพช่างทำผมไทยและนานาชาติ กระทั่งสามารถออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพช่างทำผมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งผมจะพยายามทำต่อไปจนประสบความสำเร็จครั

นั่นเป็นคำบอกเล่าของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล ประธานบริหารบริบัทชลาชล จำกัดและนายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย ที่กรุณาเล่าให้กับผู้เขียนฟังถึงการดำรงชีวิตหลังอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ใครๆก็มักจะมองว่าเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว แต่จะเห็นได้ว่าเป้าหมายและความฝันของ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นั้นยังโดดเด่นและท้าทายความสามารถและความสำเร็จที่จะต้องทำต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับหลักการหนึ่งทางจิตวิทยาที่ผู้เขียนให้ความสำคัญยิ่ง นั่นคือแม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้ว ทุกคนยังควรตั้งเป้าหมายในชีวิตและโหยหาความสำเร็จต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพราะจะทำให้ชีวิตมีพลังมีความหวังและมีความหมายในวัยเกษียณดังตัวอย่างของ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นั่นเอง

จากผลการวิจัยทั่วโลกพบว่า ผู้ที่เกษียณจากการทำงานประจำแล้วหลังอายุ 60 ปีหากไม่ทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ไม่คบค้าสมาคมกับใคร มักจะส่งผลให้ เหงา เฉา เศร้า และไร้ความภาคภูมิใจในชีวิต ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจเร็วขึ้นอีกด้วย ดังนั้นหากต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายใจและสังคมในวัยหลังเกษียณอายุจากงานประจำแล้ว พึงปฏิบัติตามหลักจิตวิทยา 3 ส. และ 3 ร.ที่ผู้เขียนได้สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ส.ที่1)คือสุขภาพ การดูแลเอาใจใส่สุขภาพทั้งกายใจหลังวัยเกษียณนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากสุขภาพกายสมบูรณ์แข็งแรงจะส่งผลให้จิตใจเข้มแข็งตามไปด้วยการจะส่งเสริมสุขภาพกายให้สมบูรณ์แข็งแรงนั้น ควร รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของแต่ละคนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า30นาที เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน แบดมินตัน หรือกีฬาอื่นๆที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บอวัยวะของร่างกาย พร้อมทั้งควรพัฒนาสุขภาพจิตด้วยการทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ใส่ใจในการศึกษาด้านศาสนาปรัชญาให้มากขึ้น จะช่วยให้เข้าใจชีวิตและมีความสงบสุขทางจิตใจได้เป็นอย่างดี

ส.ที่2)คือสานสัมพันธ์ ด้วยทฤษฎีความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทั้งของแอลเดอร์เฟอร์(Claytion Alderfer)และแมคเคลแลนด์ (McClelland)ต่างก็อธิบายไว้สอดคล้องกันว่า หนึ่งในความต้องการของมนุษย์ที่เหมือนกันคือความต้องการมิตรภาพและความผูกพัน เพราะมิตรภาพและความผูกพันนั้นทำให้มนุษย์เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยและภาคภูมิใจในชีวิต และต่างก็รู้สึกได้ว่าต่างคนต่างมีคุณค่า ทั้งยังเป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่างๆได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในวัยหลังเกษียณยิ่งต้องมีการสานสัมพันธ์กันยิ่งขึ้น ทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานร่วมกันมา สมาคมชมรมวิชาชีพ ชมรมผู้สูงอายุหรือชมรมอื่นๆในชุมชนและสังคมของแต่ละคนเป็นต้น

ส.ที่3)คือสำเร็จ ความสำเร็จต่างๆในชีวิตช่วยสร้างความรู้สึกมีคุณค่าและความภาคภูมิใจในชีวิตมนุษย์ได้เป็นอย่างดี จะส่งผลให้เกิดพลังสุขภาพจิตที่มุ่งมั่นฝันฝ่าต่อปัญหาต่างๆจนประสบความสำเร็จ ดังนั้นแม้จะอยู่ในวัยหลังเกษียณอายุแล้ว ทุกคนควรตั้งเป้าหมายในชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำกิจกรรมเล็กๆน้อยๆหรือการอบรมร่ำเรียนต่างๆที่อยากจะทำแต่ไม่มีโอกาสได้ทำในช่วงวัยทำงาน หรือตั้งเป้าหมายในงานต่างๆที่ต่อเนื่องมาจากช่วงวัยทำงานก็ได้ จะช่วยให้ชีวิตมีความท้าทายและมีความหมายที่อยากจะมีชีวิตอยู่เพื่อมุ่งมั่นฝันฝ่าไปสู่ความสำเร็จ ยิ่งๆขึ้น จะส่งผลให้เกิดพลังสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี

ร.ที่1) คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ แรงจุงใจใฝ่สัมฤทธิ์เป็นหนึ่งในแรงจูงใจที่สำคัญตามทฤษฎีของแม็คเคลแลนด์ ที่อธิบายไว้ว่า แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์คือแรงจูงใจจากภายในของบุคคลที่มุ่งมั่นฝันฝ่าเพื่อจะทำงานให้ประสบสัมฤทธิผลโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนที่เป็นวัตถุนิยม แต่มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จของงานที่ได้ทำ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณหากสามารถทำงานที่ตนเองถนัดท้าทายและจูงใจ ยิ่งเป็นงานจิตอาสาเพื่อสร้างประโยชน์ต่อผู้อื่นแล้ว ยิ่งจะช่วยทำให้เกิดความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ดังเช่นผู้เขียน ที่เขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ก็เขียนด้วยแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์นั่นเอง

ร.ที่2) คือแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ การมีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์นั้น หมายความถึงมนุษย์ทุกๆคนต่างโหยหามิตรภาพและความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ก็ด้วยมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นจึงอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า และมีแรงจูงใจที่จะไฝ่หามิตรภาพและความสัมพันธ์ในกลุ่มบุคคลที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่นอยู่ในชุมชนเดียวกัน เรียนสถานศึกษาเดียวกัน ประกอบอาชีพเดียวกัน เป็นต้น ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณพึงต้องมีแรงจุงใจใฝ่สัมพันธ์มากยิ่งขึ้น เพื่อแสวงหาความภูมิใจในความสัมพันธ์จากทั้งบุคคลในครอบครัวและสังคมซึ่งจะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้นั่นเอง

ร.ที่3) คือแรงจูงใจใฝ่อำนาจ แรงจูงใจใฝ่อำนาจเป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจที่ทำให้บุคคลรู้สึกมีคุณค่าและมีพลังที่จะมุ่งมั่นฝันฝ่าในการมีชีวิตและการทำงานให้ประสบความสำเร็จ คำว่าอำนาจในที่นี้มีหลายประเภทด้วยกัน เช่น อำนาจทางบริหาร อำนาจทางวิชาการ อำนาจการสื่อสาร อำนาจทางมิตรภาพและอื่นๆ สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าอำนาจที่พึงแสวงหาและให้เติบโตเบ่งบานยิ่งขึ้นนั้น ควรเป็นอำนาจทางวิชาการ อำนาจทางมิตรภาพและอำนาจทางคุณธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพได้รับการยอมรับนับถือและภาคภูมิใจในชีวิตมากยิ่งขึ้น

หากผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณทุกท่านสามารถปฏิบัติตนได้ตามหลักการ 3.ส.และ 3.ร. ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอมานั้นคือ สุขภาพ สานสัมพันธ์ สำเร็จ แรงจูงใจไฝ่สัมฤทธิ์ แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ และแรงจูงใจใฝ่อำนาจ นั้น หากสามารถบริหารหลักการทั้งหกข้อดังกล่าวให้เหมาะสมและมีความสัมพันธ์กันในวัยเกษียณได้แล้ว จะส่งผลให้เป็นผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งกายใจและเปี่ยมมิตรภาพ ทั้งยังได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลใกล้ชิดและสังคมอย่างงดงามในที่สุด

Assoc. Prof. Dr. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ wuttipong academy นักเขียนด้านสุขภาพจิตการสื่อสารและศาสนาปรัชญา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มติชน, อมรินทร์ธรรมะ, ซีเอ็ด, ดีเอ็มจี และวิชบุ๊ก

</p>

Recommended Posts