In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ความไว้วางใจ

trust

วิ ภาได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวด พ่อแม่รักและหวงแหนเธอมากไม่ค่อยอนุญาตให้เธอเดินทางไปไหนด้วยตนเองมาตั้งแต่เด็ก แม้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยพ่อแม่ก็ยังให้คนขับรถไปรับ-ส่งตามเวลา ชีวิตของเธอเติบโตมาจากวิธีการเลี้ยงดูด้วยคำว่า “อย่า” เช่นอย่าข้ามถนนเอง อย่าเดินคนเดียว อย่ารับของของคนอื่น อย่าไปไหนโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่ากินอาหารเกิน 3 เวลา อย่าโทรศัพท์นาน อย่าฯลฯ จนเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้วิภาไม่ค่อยกล้าตัดสินใจและกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบหวาดระแวงและขาดการไว้วางใจตัวเองและผู้อื่น   วิภาเป็นคนเรียนหนังสือเก่งเพราะไอคิวสูง เธอเรียนหนังสือจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ แต่ชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานของเธอกลับไร้ความสุขเพราะเธอรู้สึกหวาดระแวงผู้ร่วมงานว่าจะทำงานกับเธออย่างไร้ประสิทธิภาพและเธอมักจะติดตามงานจากลูกน้องอย่างใกล้ชิดจุกจิก จู้จี้จนลูกน้องรู้สึกรำคาญหลายคนทนไม่ไหวจึงลาออกงานเพราะเจ้านายจุกจิกหวาดระแวงและขาดความไว้วางใจผู้อื่น ส่วนด้านชีวิตครอบครัวเธอก็จุกจิกจู้จี้เข้มงวดกับทั้งลูกและสามีจนทุกคนรู้สึกอึดอัดใจ และในที่สุดเธอเองก็รู้สึกอึดอัดคับข้องใจหวาดหวั่นใจ ไร้ความสุขอันเกิดจากการขาดความไว้วางใจตนเองและผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ต้องมาปรึกษากับนักวิชาการสุขภาพจิตในที่สุด นั่นคือผลลัพธ์ของชีวิตที่ขาดความไว้วางใจทั้งตนเองและผู้อื่นนั่นเอง

the-speed-of-trust-the-one-thing-that-changes-everything

ความไว้วางใจ หมายถึง ความเชื่อมั่นหรือความไว้เนื้อเชื่อใจ การที่เราไว้วางใจผู้อื่น ก็คือเรามีความเชื่อมั่นในตัวของคนคนนั้น  เชื่อมั่นในความซื่อสัตย์  ความนอบน้อม  ความกล้าหาญ  ความรับผิดชอบ และฝีมือของเขา ขณะเดียวกันหากไม่ไว้วางใจใครเราก็จะไม่เชื่อมั่น  หวาดระแวง และสงสัยในทุกเรื่องของคนคนนั้นเช่นกัน

สตีเฟน เอ็ม.อาร์. โควีย์ (Stephen M.R. Covey)  นักคิดนักเขียนชาวตะวันตกได้อธิบายไว้ว่าความไว้วางใจเกิดจากปัจจัยสองอย่าง  คือ  คุณลักษณะ และฝีมือ   ทั้งสองอย่างถือว่าสำคัญยิ่ง ขาดสิ่งใดไปไม่ได้  คุณลักษณะนั้นหมายรวมถึงความซื่อสัตย์  ความนอบน้อม  ความกล้าหาญ  ความรับผิดชอบ มูลเหตุจูงใจ และเจตนาที่มีต่อผู้อื่น  ส่วนฝีมือ  คือความรู้  ความสามารถ  ประวัติการทำงาน ทักษะในการทำงาน และผลงานที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงปัจจัยหลักของการสร้างความไว้วางใจ แต่สำหรับคนที่ไม่เคย หรือไม่ค่อยไว้วางใจตนเองและผู้อื่นจะทำอย่างไร ปัญหาเช่นนี้พบได้เสมอในสังคมยุคปัจจุบันดังเช่นตัวอย่างของวิภาดังกล่าวมาแต่ต้น   ถือเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างหนึ่งที่ผู้เข้ารับการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมักจะพูดว่า “ผมขาดความมั่นใจในตนเอง” “ดิฉันไม่ค่อยเชื่อมั่นเขาเท่าไหร่”  “ผมไม่ค่อยไว้วางใจลูกน้องคนนี้นักต้องคอยตรวจสอบการทำงานกันตลอดเวลา” “ดิฉันหวาดระแวงเสมอเวลาที่ต้องทำงานร่วมกับเขา” ฯลฯ   คำพูดเหล่านี้สะท้อนแง่มุมอีกด้านที่มิใช่การสร้างคุณลักษณะและฝีมือ  เหมือนดังที่สตีเฟน เอ็ม.อาร์.โควีย์ เสนอไว้ แต่เป็นเรื่องของคนที่ขาดความไว้วางใจในสิ่งที่สามารถไว้วางใจได้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปตามแต่กรณี

คำตอบของปัญหาเหล่านี้คือ เกิดจากการที่คนเราขาดความสำนึกรู้คุณค่าในตัวเองและผู้อื่นนั่นเอง  และสาเหตุเชิงลึกของการขาดการสำนึกรู้คุณค่าก็เกิดจากการขาดความภาคภูมิใจ ขาดความมั่นใจและขาดวัคซีนใจนั่นเองและหากคนเราค้นหาความดีหรือคุณค่าที่ตนเองและผู้อื่นมีได้ ก็จะส่งผลให้จิตใจเกิดความไว้วางใจขึ้นโดยอัตโนมัติแล้วเมื่อนั้นคลื่นความถี่แห่งการไว้วางใจซึ่งกันและกันก็จะเป็นพลังฝ่ายกุศล ส่งผลให้เกิดการคลี่คลายปัญหาสารพัดได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

แทบไม่น่าเชื่อว่าผลจากการสำนึกรู้คุณที่ก่อให้เกิดความไว้วางใจตามหลักอานุภาพ 10 ประการแห่งการสำนึกรู้คุณ ซึ่งผู้เขียนได้คิดขึ้นและนำเสนอไว้ใน หนังสือปาฏิหาริย์แห่งการสำนึกรู้คุณนั้น จะไปตรงกับที่สตีเฟน เอ็ม.อาร์. โควีย์ เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “The SPEED of Trust : The One Thing That Changes Everything” ซึ่งมีผู้นำมาแปลเป็นภาษาไทยว่า “พลานุภาพแห่งความไว้วางใจ”

หนังสือเล่มดังกล่าวได้นำเสนอข้อดีของความไว้วางใจไว้อย่างน่าสนใจยิ่งนั่นคือ เขามองความไว้วางใจในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า เมื่อไหร่ที่ความไว้วางใจสูง ความเร็วสูง ต้นทุนจะต่ำ แต่เมื่อไหร่ที่ความไว้วางใจต่ำ ความเร็วต่ำ ต้นทุนจะสูง  กล่าวคือ   เมื่อคนเรามีความไว้วางใจทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่นแล้ว จะช่วยให้การตัดสินใจต่าง ๆ  ที่มีต่อกันเป็นไปอย่างรวดเร็ว   ส่งผลต่อการลดต้นทุนทั้งเวลา งบประมาณและทุนทางสังคมอื่น ๆ  อีกมาก  ในทางตรงกันข้าม หากคนเราไม่ไว้วางใจกันแล้ว  เมื่อต้องทำอะไรร่วมกันก็จะเกิดความหวาดระแวง  ตรวจสอบกันครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้ใช้เวลามาก กลายเป็นความล่าช้า   ต้นทุนของเวลา  งบประมาณและสิ่งต่าง ๆ  ก็จะสูงตามด้วย     ดังนั้นหากคนเรามีความไว้วางใจกัน ก็จะส่งผลดีรอบด้านและเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ  ช่วยประหยัดทั้งงบประมาณ  ประหยัดเวลา  ประหยัดทุนทางวัตถุธรรมต่าง ๆ  แถมยังเป็นการขยายทุนทางสังคม (social capital) ที่มีประสิทธิภาพที่สุดอีกด้วย

แม้ในแวดวงอุตสาหกรรมบริการและการบริการทั้งภาครัฐและเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและองค์กร   ซึ่งต่างจากในอดีต  ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจและความประทับใจเท่านั้น แต่หากมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้เป็นเลิศ   ตลอดจนสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง  จนสินค้าและองค์กรไปนั่งอยู่ในหัวใจของผู้รับบริการได้   เมื่อนั้นแหละความไว้วางใจจะเกิดขึ้น  นำมาสู่ความภักดีต่อสินค้าและองค์กรได้   แม้หน่วยงานราชเอง  ตั้งแต่ปี  2553  สำนักงานพัฒนาข้าราชการพลเรือนก็กำหนดให้หน่วยราชการต่าง ๆ พัฒนาและเก็บข้อมูลระดับความไว้วางใจของผู้รับบริการที่มีต่อการบริการและองค์กร  เช่น ในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนต้องทำวิจัยเชิงสำรวจระดับความไว้วางใจของผู้รับบริการในเขต  13  จังหวัดภาคเหนือที่มีต่อการบริการของหน่วยงานที่ผู้เขียนทำงานอยู่  พบว่า ได้รับความไว้วางใจ  มากกว่าร้อยละ  80 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นต้น

ความไว้วางใจเป็นความรู้สึกฝ่ายบวกที่จะส่งผลต่อตนเองและผู้อื่นที่ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมได้  ส่วนในทางเศรษฐศาสตร์นั้น  ความไว้วางใจยังช่วยลดต้นทุนทั้งเวลาและเงินตราได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนพบว่ามีงานวิจัยมากมายที่กล่าวถึงคุณประโยชน์ของความไว้วางใจ  เช่น ที่คณะบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยวอร์วิกในอังกฤษ  ได้รายงานผลการวิจัยไว้ว่า  สัญญาว่าจ้างต่าง ๆ ที่ทำกับ  องค์กรภายนอกด้วยความไว้วางใจนั้น จะให้ปันผลสูงกว่ามูลค่าสัญญาถึงร้อยละ 40 ขึ้นไป แทนที่จะเป็นการออกกฎข้อบังคับหรือบทลงโทษในแง่มุมต่าง ๆ ในขณะที่งานวิจัยของวัตสัน  ไวแอตต์ ในปี 2002  ก็ยืนยันว่า ปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากองค์กรที่มีความไว้วางใจสูงนั้น มีจำนวนมากกว่าองค์กรที่มีความไว้วางใจต่ำเกือบสามเท่าตัว

ส่วนผลงานวิจัยทางการศึกษาโดยโทนี่  เบิร์ก ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็พบว่า เด็กนักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่มีความไว้วางใจสูง สามารถพัฒนาฝีมือการทำคะแนนได้ดีกว่าเด็กที่มาจากโรงเรียนที่มีความไว้วางใจต่ำถึงสามเท่าตัว   ส่วนในระดับบุคคลผู้ที่มีความไว้วางใจสูงก็จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนมากขึ้น ได้โอกาสที่ดีที่สุดและมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับผู้บังคับบัญชาผู้ร่วมงานและบุคคลรอบข้างที่เปี่ยมด้วยความหมายเช่นกัน

แม้กระทั่งเมื่อคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต้องการข้อมูลขั้นพื้นฐานที่สำคัญสามข้อจากผู้ที่เขียนจดหมายรับรองนักศึกษา   หนึ่งในสามข้อนั้นก็คือ ความไว้วางใจ โดยทางคณะเน้นหนักที่จะพัฒนาผู้นำ  ซึ่งจะสามารถจุดประกายความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในตัวผู้อื่นได้ ด้วยการระบุให้ผู้ที่เขียนจดหมายรับรองนักศึกษา ได้โปรดให้ความเห็นต่อพฤติกรรมของผู้สมัครทั้งในเรื่องของความเคารพนับถือที่มีต่อผู้อื่น  ความซื่อสัตย์   ความนอบน้อมและความกล้าหาญ  รวมถึงความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเองที่ผ่านมา นั่นก็เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดการเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ทั้งสิ้น

การไม่ไว้วางใจกับคดโกงมักเป็นของคู่กัน สตีเฟ่น  เอ็ม.อาร์.โควีย์   เขียนไว้ในหนังสือ  “The SPEED of Trust: The One Thing That Changes Everything” เกี่ยวกับการโกงข้อสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา  ว่ามีการโกงดังต่อไปนี้   สาขาบริหารธุรกิจ  ร้อยละ ๗๕  สาขากฎหมาย ร้อยละ ๖๓ สาขาแพทย์ศาสตร์  ร้อยละ ๖๓  สาขาศึกษาศาสตร์  ร้อยละ  ๕๒  และสาขาศึกษาศิลปะศาสตร์ ร้อยละ ๔๓  หากพิจารณาข้อมูลดังกล่าวแล้ว  ลองคิดดูว่าคุณจะเสี่ยงแค่ไหน ถ้าต้องผ่าตัดกับแพทย์ที่เคยโกงข้อสอบมาก่อน หรือจะมีความเสี่ยงเพียงไร  หากต้องทำงานในบริษัทที่ผู้บริหารเคยทุจริตข้อสอบ ทั้งยังมองว่าความซื่อสัตย์ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่างหากไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า มหาบัณฑิตธุรกิจถึงร้อยละ ๗๖ เต็มใจที่จะแจ้งค่าใช้จ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง  เพื่อให้บริษัทมีกำไร  ในขณะที่นักโทษความประพฤติดีสามารถทำคะแนนได้ในระดับเดียวกับนักศึกษาบริหารธุรกิจ จากการทำข้อสอบจริยธรรม

เรื่องของความคดโกงนั้น นับเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศเลยทีเดียว ผู้นำของหลายประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อวงการต่าง ๆ ในบ้านเมือง มักจะจงใจหลบเลี่ยงการชำระภาษีให้แก่แผ่นดิน ไม่ยอมแสดงความโปร่งใสของทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่งสำคัญ ๆ ของประเทศ ทั้งพยายามใช้ช่องโหว่ของกฎหมายและพยายามแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนและพรรคพวก โดยอ้างเหตุผลที่พอจะมีอยู่บ้าง  แต่ก็ฟังไม่ขึ้นนักว่า  เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะชน ปรากฏการณ์ทำนองนี้สร้างความแตกแยกในสังคมให้เห็นมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก นั่นเพราะผู้นำขาดความเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ จึงนำมาสู่วิกฤติศรัทธาและความไม่ไว้วางใจ เริ่มตั้งแต่ระดับบุคคลจนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ฤาผู้ที่สร้างความไม่ไว้วางใจให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองและผู้อื่นได้ ก็คือผลลัพธ์ของพฤติกรรมที่เกิดจากจิตอันเนรคุณนั่นเอง

หากทุกคนประสงค์จะเป็นบุคคลที่ไว้วางใจในตนเองและผู้อื่นได้ก็สามารถสร้างได้ด้วยการเลี้ยงดูและเติบโตมาอย่างเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนใจที่ดี  มีความภาคภูมิใจในชีวิตและมีความมั่นใจในตัวเอง จะส่งผลให้เป็นผู้ที่มีความไว้วางใจในตนเองและผู้อื่นได้จะช่วยให้ชีวิตพบกับความสุขและความสำเร็จในทางโลกได้อย่างแท้จริง

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts