In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

เพิ่มพลังสุขภาพจิตเพื่อพิชิตการเลิกดื่มสุรา

alcoholism-is-prision

“คุณพยาบาลครับ เมื่อออกจากโรงพยาบาลครั้งนี้แล้ว ผมจะไม่กลับมานอนรักษาอีกนะครับ ผมมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วครับว่า ต้องเลิกสุราให้จงได้” นั่นเป็นพันธะสัญญาจากคำพูดของผู้ป่วยสุขภาพจิตจากการดื่มสุราคนหนึ่งที่บอกกับพยาบาลที่ดูแลเขา ก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล หลังจากที่อาการเขาดีขึ้นแล้ว สิ้นเสียงพูดของผู้ป่วยพยาบาลจึงถามต่อว่า “มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจจึงสื่อสารเช่นนั้นคะ” ผู้ป่วยตอบว่า “ผมจะเลิกดื่มสุราให้ได้เพื่อเป็นของขวัญให้ลูกชายคนแรกของผมที่กำลังจะขึ้นเป็นนายธนาคารครับ”

นั่ นเป็นเรื่องราวของผู้ป่วยชายคนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชผ่านมานับ 10 ครั้ง ด้วยมีปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราจนถึงขั้นมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และหลังจากที่ผู้ป่วยได้บอกกับพยาบาลเช่นนั้นแล้ว เขาก็ทำได้จริง ๆ โดยไม่กลับมารักษาซ้ำแบบผู้ป่วยในอีกเลย เพียงแค่มาตามแพทย์นัดและรับยาอย่างต่อเนื่องเท่านั้นเอง

drink

ใช่เพียงแต่ผู้ป่วยรายดังกล่าวเท่านั้น ยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่รักษามานานหลายปี บอกกับทีมรักษาพยาบาลว่า ที่เขาเลิกดื่มสุราได้ ก็ด้วยเกิดจากแรงบันดาลใจที่จะเลิกดื่มเพื่อใครบางคน เช่น เลิกดื่มให้เป็นของขวัญแก่ลูกสาวที่กำลังจะคลอดลูกและเพื่อรับขวัญหลานที่กำลังจะคลอด , เลิกดื่มเพื่อแม่เพราะทุกครั้งที่เมาสุราเขามักจะทำร้ายแม่โดยไม่รู้ตัว , เลิกดื่มเพื่อเป็นของขวัญให้กับคุณหมอที่รักษาและดูแลเขาด้วยดีตลอดมา เพราะไม่ว่าเขาจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกี่ครั้งก็ตาม คุณหมอก็ไม่เคยตำหนิ ต่อว่าหรือด่าบ่นใด ๆ จึงตัดสินใจจะต้องเลิกดื่มให้ได้ เพื่อเป็นของขวัญให้กับทีมคุณหมอ เป็นต้น

นอกจากนั้นทีมรักษาพยาบาลยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า ผู้ป่วยที่สามารถเลิกสุราได้ ส่วนมากมักจะมีญาติคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งการมารับ-มาส่งที่โรงพยาบาลและมาเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงมีทัศนคติที่ดีต่อตัวผู้ป่วยอีกด้วย นั่นคือเราพบว่าผู้ป่วยที่เลิกสุราได้เหล่านั้น ต่างก็ได้รับการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพด้วยหลักการเดียวกันตลอดมา ถึงแม้ว่าจะแตกต่างกันไปในรายละเอียดของผู้ป่วยแต่ละคนก็ตาม และเมื่อนำหลักการสร้างพลังสุขภาพจิต (Resilience) ที่กรมสุขภาพจิตได้สังเคราะห์ไว้ 5 ประการ มาวิเคราะห์ก็พบว่าหลักการดังกล่าว เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราได้เป็นอย่างดีนั่นคือ

1.) #กระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้สึกดีและภาคภูมิใจต่อตนเอง ด้วยการชี้ชวนผู้ป่วยให้ค้นหาคุณค่าและความหมายที่ดีงามของชีวิตและบุคคลใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง ทั้งในชีวิตส่วนตัวครอบครัวและหน้าที่การงาน กระทั่งญาติผู้ป่วยต้องต้องแสดงท่าทีที่เป็นมิตรและให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยการชื่นชมในคุณงามความดีต่างๆที่เขามีอยู่อย่างสม่ำเสมอ

2.) #ช่วยผู้ป่วยแสวงหาใครสักคนหรือสักกลุ่มที่เขาเชื่อมั่นได้ว่ารักและจริงใจต่อเขาจริงๆแม้ในยามยากเข็น ด้วยการชี้ชวนผู้ป่วยให้ค้นหาว่า เขามีใครสักคนหรือสักกลุ่มหรือไม่ที่รักจริงจังจริงใจต่อเขาจริงๆแม้ในยามที่เขาลำบากยากเข็ญ อาจจะเป็นบุคคลในครอบครัวเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายและลูกน้องก็ได้ กระทั่งแนะนำผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยให้มีความสงสารเข้าใจเห็นใจและปฏิบัติดีต่อผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

3.) #ตั้งเป้าหมายในชีวิต ควรชวนผู้ป่วยให้ตั้งเป้าหมายที่จะเลิกดื่มสุราให้ได้ว่าจะเลิกดื่มสุราให้ได้ #เพื่อใคร เช่น เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก เพื่อคู่รัก เพื่อพระเจ้า เพื่อพระพุทธเจ้า หรือเพื่อสร้างตำนานให้ตนเอง เป็นต้น #เพื่ออะไร เช่น เพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อเป็นของขวัญให้ใครบางคน เพื่อความสุขของครอบครัวและตัวเอง เพื่อให้เจ้านายและผู้ร่วมงานมองตนเองในด้านดี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น #และเมื่อไหร่ ต้องมีการกำหนดเวลาที่จะเลิกให้ชัดเจน และชี้ชวนผู้ป่วยให้เข้าใจถึงวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เช่น ผู้ป่วยต้องเข้มงวดและมีวินัยต่อการปฏิบัติตนในกระบวนการรักษา

4.) #พบความสำเร็จเป็นระยะ ๆ ประเด็นนี้ผู้ให้การรักษาและผู้ใกล้ชิดที่เป็น “แรงบันดาลใจ” ให้ผู้ป่วยควรชี้ชวนผู้ป่วยให้พบเห็นความสำเร็จเป็นระยะ ๆ เช่น ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราได้นานขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยมีความพยายามขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้น และควรกล่าวชื่นชมในทุกความสำเร็จนั้นๆด้วยเสมอ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความภูมิใจและรู้สึกดีต่อตนเองขึ้นเรื่อย ๆ ตามหลักการข้อ 1 อีกด้วย

5.) #มีสายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน ทีมรักษาพยาบาลควรมีส่วนชี้ชวนและช่วยให้ผู้ป่วยค้นหา สายสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนต่อเขาทั้งญาติ บุคคลใกล้ชิด เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้นำชุมชน ชมรม สมาคม สโมสร มูลนิธิ และสถาบันทั้งทางวิชาชีพและวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนที่สามารถเกื้อหนุนต่อตัวผู้ป่วยให้สามารถเลิกดื่มสุราได้

หากผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา ได้รับการกระตุ้นเร้าและชี้ชวนให้เกิดพลังใจหรือพลังสุขภาพจิต 5 ประการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยใส่ใจและตั้งใจที่จะปฏิบัติตนอย่างมีวินัยต่อกระบวนการรักษา #ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราได้ยาวนานขึ้นเรื่อยๆจนบางรายเลิกดื่มได้เด็ดขาดในที่สุด

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts