In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

สื่อมวลชนควรตระหนักรู้การทำงานแบบสหวิชาชีพ

s__37707780

#จากกรณีที่มีนักข่าวบางคนและบางสำนักได้ฝ่าฝืนกติกาการทำงานร่วมกัน กรณีช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าที่จังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นข่าวอยู่แล้วนั้น ผู้เขียนเห็นว่าสื่อมวลชนคงต้องตระหนักในเรื่องของการทำงานแก้ปัญหาสังคมร่วมกัน ในลักษณะที่เป็นทีมสหวิชาชีพ ใช่เพียงอยากได้ข่าวนำเสนอก่อนสำนักอื่นเท่านั้น ควรให้ความสำคัญเรื่องการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน เพราะวิชาชีพอื่นๆเขาก็ต่างรับผิดชอบกันอย่างยิ่งยวดด้วยชีวิต

M cQuail(1987) ได้ประมวลหน้าที่หลักๆของสื่อมวลชนที่พึงมีในเนื้อหาของทฤษฎีการใช้สื่อเพื่อการพัฒนาสังคมไว้หลายประการ แต่ผู้เขียนจะขอหยิบยกมาในสิ่งที่สอดคล้องกับการกู้ภัยในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนที่อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงรายครั้งนี้เพียง3ประการเท่านั้น นั่นคือ McQuail ได้กล่าวไว้ว่า

1)  สื่อมวลชนต้องยอมรับและเข้าร่วมดำเนินการในงานพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับแผนและนโยบายการพัฒนาสังคมโดยรวม นั่นหมายความว่าสื่อต้องเข้าร่วมดำเนินการและร่วมมือตามแผนงานที่ผู้บัญชาการการกู้ภัยครั้งนี้ได้มีนโยบายออกมาชัดเจนทุกประการ

2)  เสรีภาพของสื่อมวลชนจะมีอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดไว้ว่า จะต้องขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาและความต้องการในการพัฒนาต่างๆในบริบทนั้นนั้น ดังเช่นการขอความร่วมมือในการทำข่าวกรณีช่วยเหลือทีมหมูป่าครั้งนี้สื่ออาจรู้สึกว่ามีข้อจำกัดในการทำข่าวสูง แต่นั่นคือความร่วมมือกับนักสหวิชาชีพอื่นๆในการกู้ภัยครั้งนี้

3)  เพื่อผลประโยชน์ของการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศรัฐมีสิทธิ์ที่จะเข้าแทรกแซงหรือควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนด้วยกลไกแบบต่างๆเช่นการเซ็นเซอร์หรือการขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวแบบเฉพาะกิจดังเช่นในกรณีการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าในครั้งนี้เป็นต้น

การทำงานกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือทีมเยาวชนหมูป่าในครั้งนี้ มีผู้บัญชาการการกู้ภัยคืออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและยังมีนักวิชาชีพอีกมากมาย เช่น นักปกครอง,นักบรรเทาสาธารณภัย,นักดำน้ำ,นักสาธารณสุข,นักสุขภาพจิต,นักธรณีวิทยา,นักอุตุนิยมวิทยา,นักบินฯ ซึ่งมีการวางแผนและร่วมมือกันอย่างรัดกุมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆที่มีการบริหารความเสี่ยงยังแน่นหนา และต้องเคารพในคำสั่งและทำตามระบบปฏิบัติที่จัดทำขึ้นโดยทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพอย่างชัดเจน

#สื่อมวลชนเป็นเพียงหนึ่งนักวิชาชีพ นั่นคือนักสื่อสารมวลชนที่เข้าไปทำงานร่วมเพื่อการนำเสนอข่าวสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณะชนเท่านั้น ดังนั้นการร่วมมือกับผู้บัญชาการการกู้ภัยเพื่อร่วมงานในลักษณะสหวิชาชีพนั้น สื่อควรเคารพอย่างยิ่งยวดว่า กติกาครั้งนี้ควรทำอย่างไรและแค่ไหนไม่ใช่ดันทุรังอยากได้ข่าวก่อนคนอื่นเท่านั้น เพราะนั่นหมายถึงการไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นเพื่อแก้ปัญหาประเทศในรูปแบบทีมสหวิชาชีพได้ และการนำเสนอข่าวก่อนคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในระบบของการวางแผนนั้น อาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้ประสพภัยและญาติและสาธารณชนอีกมากมาย เช่นนั้นคำว่ารับผิดชอบต่อสังคมจะมีอยู่อย่างไร

ขอขอบพระคุณสื่อมวลชนทุกท่านและทุกแขนง ที่ทำงานอย่างเต็มที่จริงจังจริงใจต่อการกู้ภัยในครั้งนี้ และการนำเสนอบทความนี้หวังเพียงกระตุ้นให้”สื่อบางท่าน”ให้ได้ข้อคิดถึงการทำงานในลักษณะสหวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาสังคมร่วมกันกับนักวิชาชีพอื่นเท่านั้น (มิใช่การทำข่าวแบบสืบสวนสอบสวน) ด้วยความเคารพและชื่นชมการทำงานของสื่อมวลชนเสมอและเชื่อมั้นว่าสื่อสารมวลชนนั้นสามารถสร้างปัญญาและแก้ปัญหาให้สังคมร่วมกับนักวิชาชีพอื่นๆได้เป็นอย่างดี

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts