In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

คุณค่าประเพณีสงกรานต์ต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตคนไทย

fs

ระเพณีสงกรานต์ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณ เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่งดงาม โดดเด่น และฝังลึกเข้าไปในชีวิตของคนไทยมาช้านาน แม้กระทั่งชาวต่างชาติก็ให้ความสนใจและรู้จักประเพณีสงกรานต์ของไทยเป็นอย่างดี นักวิชาการได้ให้ความหมายประเพณีสงกรานต์ไว้หลายท่าน เช่น เสถียร โกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) กล่าวว่าประเพณีสงกรานต์เป็นการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย คือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี มีการทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญให้ทาน สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำ ,ศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ กล่าวว่าสงกรานต์ คือ วันขึ้นปีใหม่ของไทย มีการเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน ทำบุญให้ทาน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ และมีการละเล่นรื่นเริงต่างๆ

การยกย่องให้เกียรติและ
แสดงความเคารพนับถือแก่ผู้สูงอายุ

อนึ่งกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นกิจกรรมของทั้งครอบครัว,ชุมชนและสังคมที่ทุกเพศทุกวัยทุกสถานภาพ มีกิจกรรมในเชิงสานสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันและให้คุณค่าทางจิตใจในทางที่ดีงาม กระทั่งสามารถสมัครสมานสามัคคีกันได้เป็นอย่างดี และกิจกรรมการแสดงออกต่างๆในเทศกาลสงกรานต์มีคุณค่าต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทยดังต่อไปนี้

aa

1)

คุณค่าต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตครอบครัว” ทำให้สมาชิกในครอบครัว ได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกันโดยพร้อมหน้า เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวฑิตา เช่น ลูก หลาน รดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่ของครอบครัว และ ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน และช่วยกันจัดเตรียมสิ่งต่างๆเพื่อร่วมกันทำบุญ การที่ครอบครัวได้มีโอกาสอยู่กันอย่างพร้อมหน้าด้วยความรัก ความอบอุ่น และเอื้ออาทรต่อกันจะช่วยให้ครอบครัวเกิดความรักความอบอุ่นและเข้าใจกัน เป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี

2)

”คุณค่าต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชนและสังคม” ประเพณีสงกรานต์ทำให้เกิดความสมานสามัคคีกันในชุมชนและสังคมแม้ว่าแต่ละแห่งอาจมีประเพณีและกิจกรรมแตกต่างกันไปบ้างก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่พบในประเพณีนี้คือ คนในชุมชนนั้นๆจะร่วมกันประกอบกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์และมีสิ่งรวมใจต่อกันด้วยความพร้อมเพรียง เช่น กิจกรรมช่วยกันขนทรายเข้าวัด การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในชุมชน การแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ การสืบชะตา ตลอดจนการละเล่นพื้นบ้านและกิจกรรมเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น

3)

”คุณค่าต่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุ” กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่มักกระทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์คือ การรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ กิจกรรมดังกล่าวเป็นการยกย่องให้เกียรติและแสดงความเคารพนับถือแก่ผู้สูงอายุซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจในชีวิต และยังพบว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีพลังใจเพื่อยืนหยัดรักษาชีวิตอยู่ให้อายุยืน เพื่อรอการกลับมารวมตัวของลูกหลานในวันสงกรานต์นี้เอง ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี

4)

”คุณค่าต่อการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมและศาสนา” ประเพณีสงกรานต์มีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ในวันสงกรานต์จะมีการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ สรงน้ำพระ สืบชะตาชีวิต ปฏิบัติธรรม และปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการปลูกฝังความมีคุณธรรมจริยธรรมแก่บุคคลในสังคมได้ โดยเฉพาะคุณธรรมด้านความเมตตากรุณา การรู้จักการเป็นผู้ให้ และการทำจิตใจให้ผ่องใส เพราะการปฏิบัติธรรมตามหลักความเชื่อทางศาสนานั้น สามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนเราได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้นทุกคนควรร่วมกันส่งเสริมและรักษาประเพณีสงกรานต์ไว้ให้ดี เพราะสิ่งนี้ใช่เป็นเพียงประเพณีวัฒนธรรมเท่านั้น แต่หากมองผ่านกรอบหลักการทางด้านสุขภาพจิตแล้ว ประเพณีดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับทางศาสนาอย่างแนบแน่นทั้งยังเป็นเครื่องมือทางสังคมที่ส่งเสริมความฉลาดทางสังคม(sq)และความฉลาดทางอารมณ์(eq)และยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนส่งเสริมสุขภาพจิตทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และสังคมได้เป็นอย่างดี

bb

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ประธานสถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์และกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ Wuttipong Academy, กรรมการบริหารมูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง

Recommended Posts