In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

ความโศกเศร้าเคล้าน้ำตาช่วยเยียวยาจิตใจได้อย่างไร

ความโศกเศร้าเคล้าน้ำตาช่วยเยียวยาจิตใจได้อย่างไร

หลายคนถามมาว่า “เหตุใดเมื่ออยู่ในภาวะที่ผิดหวังและเศร้าใจจึงชอบฟังเพลงเศร้าและร้องไห้ไปพร้อมกับเสียงเพลง ทั้งยังฟังหลายรอบอีกด้วย หนูผิดปกติหรือเปล่าค๊ะ? หรือคำถามที่ว่าทั้งๆที่หนังหรือละครเรื่องที่ดูสุดแสนเศร้าและร้าวรานใจขั้นเทพเลย แต่ทำไมหนูถึงชอบดูหลายรอบและดูไปก็ร้องไห้ไปด้วยทุกครั้ง อย่างนี้ผิดปกติทางจิตหรือเปล่าค๊ะ?”

#ให้เราร้องไห้ออกมา ได้ระบายอารมณ์

คำตอบก็คือ หากดูหนังหรือฟังเพลงเศร้าเคล้าน้ำตาแล้ว แต่ยังปรับตัวและทำหน้าที่ตามวัยของชีวิตได้ดีตามปกติก็เข้าข่ายปกติแล้วหละครับ แต่!หากหลังจากดูหนังฟังเพลงเศร้าเคล้าน้ำตาแล้ว จิตใจยังหดหู่ห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรงไร้ชีวิตชีวากระทั่งหน้าตาเศร้าหมอง ไม่สามารถทำหน้าที่หรือทำงานตามวัยของชีวิตได้เกินสองสัปดาห์ขึ้นไปหรือมีความคิดอยากปลิดชีวิตตนเองแล้วหละก็ ควรต้องรีบไปหาหมอด้านสุขภาพจิตดีกว่าเพื่อจะได้ให้การเยียวยาจิตใจกันต่อไป

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าผู้ป่วยจิตเวชและผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตนั้นเป็นคนละกลุ่ม กล่าวคือมนุษย์ทุกคนประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตกันทั้งนั้น โดยเฉพาะการผิดหวังเสียใจและพลัดพลาก ซึ่งถือเป็นความทุกข์ปกติที่ใครๆก็ต้องเจอ และกลุ่มนี้แหละครับ ที่ดูหนังฟังเพลงเศร้าเคล้าน้ำตาแล้วมีโอกาสเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจได้ดีกว่ากลุ่มผู้ป่วยจิตเวช

หลายคนเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลังจากอกหักแล้วนอนฟังเพลงเศร้าจนร้องไห้ไปหลายครั้ง แต่หลังจากนั้นมีความรู้สึกสบายใจขึ้นมาก เช่นเดียวกับบางคนก็เล่าให้ฟังว่าทั้งๆที่ตนเองดูหนังหรือละครแสนเศร้าและร้องไห้ตามอย่างฟูมฟาย แต่พอหนังหรือละครจบลงหนูกลับรู้สึกโล่งใจและสบายใจขึ้นมากเลย นั่นเป็นคำบอกกล่าวจากผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาสุขภาพจิตกับผู้เขียนซึ่งสอดคล้องกับทฤษฏีทางสุขภาพจิตที่ว่าในผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มิใช่ผู้ป่วยจิตเวชนั้น ความรู้สึกเศร้าเคล้าน้ำตาก็ช่วยเยียวยาจิตใจได้เช่นกัน นั่นคือ

ความโศกเศร้าเคล้าน้ำตาช่วยเยียวยาจิตใจได้อย่างไร

1

ความเศร้าช่วยให้ได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกออกมา กล่าวคือในภาวะที่คนเราผิดหวังและเสียใจนั้นเมื่อถูกเร้าด้วยเสียงเพลงหรือดูหนังดูละครที่เศร้าจะกระตุ้นเร้าอารมณ์ให้เราร้องไห้ออกมา นั่นคือเราได้ระบายอารมณ์ที่ทุกข์โศกและเจ็บปวดทางใจ(ventilationหรือcatharsis) ออกมาทางปฏิกิริยาด้านร่างกาย เช่น เสียงสะอื้นและการหลั่งน้ำตา กระทั่งน้ำตาเราเองก็ยังมีชีวะเคมีที่ชื่อลิวซีนเอ็นคีฟาลีน(leucine enkephalin)ซึ่งมีคุณสมบัติบรรเทาความเจ็บปวดอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นหลังจากร้องไห้เรียบร้อยแล้วเราอาจนั่งหรือนอนซึมอยู่พักหนึ่งจากนั้นจะรู้สึกว่าสบายใจขึ้น

ความเศร้าทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ดูหนังหรือละครอันแสนโศกเศร้า เรามักได้ข้อคิดและเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเองว่า ใครๆก็พบกับความยากลำบากได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากพบว่าปัญหาที่ตัวเราเจออยู่นั้นเล็กน้อยกว่าในหนังหรือในละครที่ตนเองดู ยิ่งทำให้ได้ข้อคิดและรู้สึกว่าตัวเราเองโชคดีกว่าตัวละครนั้นๆและคนอื่นอีกมากมายในสังคม

ดังเช่นรายงานวิจัยของศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ซิลเวีย น็อปล็อคห์ เวสเตอร์วิค (Professor Doctor Silvia Knobloch-Westerwick) นักวิจัยด้านการสื่อสารมหาวิทยาลัยโอไฮโอประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยโดยให้กลุ่มตัวอย่างชายหญิงจำนวน361คน ดูหนังเศร้ามากขั้นเทพคือเรื่อง “ตราบาปลิขิตรัก”(Atonement) หลังดูหนังจบพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความสุขมากขึ้นกว่าก่อนการดูหนัง และกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวยังบอกอีกว่า การได้รู้ได้เห็นความเศร้าโศกสุดรันทดของผู้อื่นนั้น เมื่อหันมามองตัวเองแล้วรู้สึกว่าโชคดีกว่าคนอื่นอีกมากมาย

2

3

ความเศร้าใจช่วยให้ปรับตัวต่อการใช้กลไกทางจิตได้ดีขึ้น กล่าวคือขณะที่เราเศร้าใจเมื่อได้รู้ได้เห็นความลำบากยากเข็นของผู้อื่นนั้น จะช่วยทำให้เราได้เห็นการปรับตัวหรือรับมือต่อปัญหาของตัวละครว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไรต่อปัญหานั้นๆ แล้วนำมาวิจารย์เปรียบเทียบกับตนเองเพื่อการเรียนรู้ที่ดียิ่งขึ้น ดังเช่นในอดีตเมื่อครั้งที่ผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการละครจิตบำบัดในโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง หลังเลิกกลุ่มละครจิตบำบัดจะมีการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความคิดเห็นต่อกัน ซึ่งพบว่าผู้ที่อยู่ในบทละครและผู้ชมต่างได้เรียนรู้วิธีการรับมือต่อปัญหาต่างๆได้หลากหลายและเหมาะสมยิ่งขึ้น

ความเศร้าช่วยให้เข้าใจเห็นใจและเมตตาต่อผู้อื่น มีรายงานวิจัยด้านระบบประสาทวิทยาหลายชิ้นพบว่าขณะที่คนเรามีความรู้สึกเศร้าอยู่นั้น สมองจะหลั่งสารชีวะเคมีที่ชื่อว่าอ็อกซีโตซิน(oxytocin) ซึ่งเป็นชีวะเคมีในสมองที่สัมพันธ์กับการมีความรู้สึกรักผูกพันและเมตตายิ่งขึ้น ซึ่งโดยปกติชีวะเคมีชนิดนี้จะหลังออกมามากขณะที่มารดาให้นมบุตร ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าเหตุใดเราจึงรู้สึกเมตตาสงสารใครๆยิ่งขึ้นเมื่อเราพบเห็นแล้วรู้สึกเศร้าใจ

จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว ความรู้สึกโศกเศร้าที่เราพบกันนั้น นอกจากจะเป็นความทุกข์ที่เป็นความธรรมดาของชีวิตมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ยังช่วยเยียวยาจิตใจให้รู้สึกสุขสบายและได้เรียนรู้จักการปรับตัวต่อชีวิตได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากเมื่อใดเศร้าโศกเสียใจแล้วอยากร้องไห้ ก็ร้องไปเถิด ดั่งเพลงที่คุณดาวใจ ไพจิตร ร้องไว้ว่า “ร้องไปเถิดถ้าร้องเพื่อล้างลูกตา เมื่อหลับแล้วตื่นขึ้นมา ลูกตาจะได้สวยใส แต่ถ้าร้อง เพื่อให้เขามาอาลัย อายตัวเองบ้างน๊ะใจ เขาจะว่าได้ไม่มีน้ำยา”

4

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสหศาสตร์, ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok, กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง, Best Practice Award 2017 สาขาวรรณกรรมเพื่อส่งเสริมสังคม

Recommended Posts