In บทความ, วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์
talking

วันที่ 10 กันยายนของทุกปี องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหา การฆ่าตัวตายและการป้องกัน โดยปี 2560 นี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า “Take a minute , change a life” หรือ “เพียงแค่นาทีชีวิตเปลี่ยน”

“อาจารย์ครับ ผมเห็นอาจารย์ทำงานรณรงค์ช่วยเหลือปัญหาสุขภาพจิตมานานแล้ว โดยเฉพาะการป้องกันการฆ่าตัวตาย #ผมจึงขอถามอาจารย์หน่อยเถอะครับว่าการฆ่าตัวตายมีสาเหตุเกิดจากอะไร?” สิ้นเสียงของกัลยาณมิตรคนดังกล่าวผู้เขียนจึงตอบไปว่า “#จะรู้ไปทำไมรู้ไปก็ช่วยอะไรไม่ได้ครับ” คนถามงงเล็กน้อยกับคำตอบของผู้เขียน ผู้เขียนจึงอธิบายต่อไปว่า “คืออย่างนี้ครับ ที่ตอบไปเมื่อสักครู่นั้น ผมพบว่าตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผมและทีมงานก็เฝ้าบอกกับสาธารณชนเรื่องสาเหตุของการฆ่าตัวตายมาตลอด แต่ก็ไม่เห็นว่าปัญหาการฆ่าตัวตายจะลดลงแบบเบ็ดเสร็จสักที”

#ให้รีบช่วยเหลือแบบฉับพลันทันที

นขณะที่ปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่างไม่เห็นว่าประชาชนจะต้องมารู้สาเหตุอะไรลึกซึ้งเลย #แต่กลับป้องกันแก้ไขได้ดีเมื่อรู้แค่สัญญาณเตือนและวิธีช่วยเหลือแบบรวดเร็วเท่านั้น เช่น วันนี้หากถามคุณว่า รู้ไหมว่าสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบคืออะไร ก็ตอบยากหรือไม่รู้ใช่ไหมครับ แต่หากถามว่าไส้ติ่งอักเสบมักจะมีอาการอย่างไร รู้ใช่ไหมครับว่าคือปวดท้องด้านขวาและปวดขึ้นเรื่อยจนอาจมีไข้แล้วรีบไปหาหมอไงครับ ช่วยได้ทันท่วงที กัลยาณมิตรคนดังกล่าวจึงตอบผู้เขียนว่า อ้อ ใช่ ๆ ครับอาจารย์ ถ้าเช่นนั้นเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าตัวเราหรือคนใกล้ชิดส่งสัญญาณเตือนจะฆ่าตัวตาย”

นั่นเป็นบทสนทนาที่ผู้เขียนกับกัลยาณมิตรได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่ง #องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทุกๆปีประชากรโลกเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปีละล้านกว่าคน ซึ่งรวมแล้วมากว่าภัยพิบัติใด ๆ ในโลกนี้โดยทุก ๆ 40 วินาทีจะมีผู้เสียชีวิต ๑ คน #สำหรับประเทศไทยนั้นล่าสุดกรมสุขภาพจิตได้รายงานสถิติการฆ่าตัวตายว่าปีละสี่พันกว่าคน นั่นคือทุก ๆ ประมาณสองชั่วโมงจะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จหนึ่งคน ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่น่าเสียดายยิ่ง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเราต่างช่วยเหลือกันและกันได้

หากอยากรู้ว่าสาเหตุสารพัดอย่างที่รุมเร้าคนเราให้อยากฆ่าตัวตายนั้นมีอะไรบ้าง ทุกท่านพิมพ์เข้าไปหาข้อมูลใน google ได้ ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยที่จะอธิบายว่ามาจากทั้งร่างกายจิตใจและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยละเอียด แต่ในบทความนี้ผู้เขียนประสงค์จะนำเสนอเกี่ยวกับสาเหตุทางชีวเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงมากจนทำให้คนเราคิดและรู้สึกเศร้าใจมากจนอยากจะฆ่าตัวตาย และสัญญาณเตือนของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายพร้อมทั้งวิธีการช่วยเหลือแบบฉับไวเท่านั้น

สาเหตุด้านการเปลี่ยนแปลงเคมีในสมองของผู้ป่วยซึมเศร้าหรือผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายเหล่านั้นเนื่องมาจากมีสารชีวะเคมีแห่งความทุกข์ ซึ่งเรียกว่าสารคอร์ติซอล (Cortisol) หลังออกมามากมายในสมองและร่างกายไม่สามารถขจัดออกได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าหมองใจอย่างยิ่งยวดและไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป และเข้าใจว่าการฆ่าตัวตายอาจเป็นหนทางพ้นทุกข์ดังกล่าวได้ จึงมีความคิดและความพยายามจะฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยจะส่งสัญญาณเตือนเพื่อบอกกล่าวแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดด้วยการสื่อสาร “#สั่งเสียฝากฝังและสั่งลา” ด้วยรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการพูดการเขียน เช่น อาจบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้วขอฝากดูแลลูกและแม่ด้วย หรือทำพินัยกรรมแล้วสั่งเสียว่าเขาอาจอยู่อีกไม่นานเท่าไหร่ ขอให้ดูแลกิจการให้ดีด้วยหากชาติหน้ามีจริงคงได้พบกันอีก เป็นต้น

alone

มื่อคนที่อยู่ใกล้ชิดได้ยิน ได้รู้ ได้เห็นสัญญาณเตือนทำนองดังกล่าวแล้ว #ให้รับรู้ว่าเขาสื่อสารเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือมิใช่เรียกร้องความสนใจ และ #ให้รีบช่วยเหลือแบบฉับพลันทันที และถามเขาไปว่า “คุณมีความทุกข์ใจมากเพียงใดและมีความคิดอยากทำร้ายตนเองหรือคิดอยากจะฆ่าตัวตายหรือไม่” แทบทั้งหมดของผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายเขามักจะตอบว่า “รู้สึกทุกข์มากจนไม่อยากมีชีวิตอยู่และคิดจะทำร้ายตนเอง” จากนั้นให้อธิบายต่อว่าความคิดและความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกทุกข์ใจหลั่งออกมามากในช่วงนี้ จึงต้องได้รับการช่วยเหลือจากหมอโดยด่วน จากนั้นให้รีบพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

#หากจับสัญญาณเตือนได้ไวแล้วไม่เพิกเฉยและช่วยเหลือแบบฉับพลันทันใดไม่รีรอและส่งถึงมือหมอทันที ก็จะช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายได้อย่างแท้จริง เปรียบเปรยคล้าย ๆ กับเรารู้ว่าคนใกล้ชิดบอกเราว่าปวดท้องด้านขวามาก ๆ จนจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว เราจึงรีบพาไปหาหมอโดยพลันก็ช่วยเหลือได้ทันที โดยไม่ต้องไปรู้ว่าสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร รู้แต่สัญญาณเตือนและช่วยเหลือแบบฉับไวนั่นเอง ดังนั้นเมื่อไหร่พบว่าคนใกล้ชิดส่งสัญญาณสั่งเสียฝากฝังและสั่งลาก็แค่รีบพามาหาหมอทันที นั่นแหละคือ “#เพียงแค่นาทีชีวิตก็เปลี่ยน:Take a minute, Change a life นั่นเอง

วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์

นักส่งเสริมสุขภาพจิตและนักพัฒนาคุณภาพมนุษย์แบบสหศาสตร์ประธานสถาบันพัฒนาคุณภาพมนุษย์ Wuttipong Academy Bangkok และกรรมการบริหารมูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาลสวนปรุง

Recommended Posts