กัลยาณมิตรของผู้เขียนท่านหนึ่งถามมาในอินบ๊อกว่า “การรับกรรมมีจริงหรือและเป็นเช่นไร เหตุใดจึงต้องรับกรรม” ผู้เขียนจึงขอตอบแบบพอสังเขป ที่ผสานทั้งตรรกะทางโลกและทางธรรม สู่สาธารณทั่วๆไปที่ใครๆก็อ่านได้ เผื่อว่าอาจมีท่านอื่นๆสงสัยเช่นกัน
ทำอย่างไรได้อย่างนั้น และทำเท่าไรได้เท่านั้น
ก่ อนอื่นคงต้องเข้าใจกันอย่างชัดเจนก่อนว่า”#กรรม”หมายความถึงอะไรบ้าง กรรมในวิชาการจิตวิทยาน่าจะหมายถึงรูปแบบพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับความคิดนั่นเอง ส่วนในพุทธปรัชญากรรมเป็นทั้งความคิด,การสื่อสารและการกระทำ มีทั้งกรรมฝ่ายดี,ฝ่ายเลว,ฝ่ายกลางๆ กรรมเป็นได้ทั้งเหตุและผล และมโนกรรม(ความคิดความรู้สึก) เป็นต้นเหตุแห่งกรรมทั้งปวง
เช่น การอ้วนเกิดจากการรับประทานอาหารมากนอนมากไม่ออกกำลังกาย(สร้างกรรม)ส่งผลให้ร่างกายอ้วน(ผลแห่งกรรม)หรือการใช้วุฒิปริญญาตรีไปสมัครงานจนได้รับคัดเลือกเข้าทำงานนั้นก็คือ การเรียนจนจบปริญญาตรีเป็นเหตุ(สร้างกรรม)การได้งานทำเป็นผล(รับผลแห่งกรรม) ต่อมา ทำงานไปได้ระยะหนึ่งทำการคดโกง(สร้างเหตุ)เมื่อถูกเขาจับได้จึงถูกไล่ออก(รับผล) เป็นต้น นั่นคือแท้จริงชีวิตคนเรานั้นก็มีแต่การสร้างเหตุแล้วรับผล,สร้างเหตุแล้วรับผล,สร้างเหตุแล้วรับผล ครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเช่นนี้ ไม่มีเป็นไปอย่างอื่นในทางธรรมเลย
หลายคนมักพร่ำบ่นว่า “#ขยันมากเหลือเกินแต่เหตุใดจึงไม่ได้ผลลัพท์ตามที่หวังไว้” ผู้เขียนขอตอบว่า “อาจเป็นเพราะเหตุที่สร้างไว้ไม่สัมพันธ์กับผลลัพท์หรือไม่ใช่เส้นทางจะนำไปสู่ผลลัพท์ที่คาดหวังไว้อย่างแท้จริงนั่นเอง เช่นอยากผอมจึงไม่รับประทานแป้ง(ข้าว)แต่รับประทานผลไม้ซึ่งหารู้ไม่ว่าในผลไม้นั้นก็มีน้ำตาลและแป้งอยู่เช่นกัน จึงยากที่จะผอมลง อีกอย่างเหตุแห่งการผอมลงนั้นยังมีเรื่องของการออกกำลังกายและปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัญญาหรือความรู้(knowledge)ทางโลก จึงต้องมีการวิจัยกันมากมายเพื่อแสวงหาสาเหตุของสิ่งต่างๆว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไรและสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อจะนำไปสู่การป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆทางโลกนั่นเอง”
ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนมักจะบ่นว่า หลายอย่างในชีวิตที่ทำอยู่นี้สมเหตุสมผลมากอยู่แล้วและทำด้วยความวิริยะอุตสาหะแต่ทำไมจึงมิได้ผลลัพท์ตามที่หวังไว้ คำตอบก็คือ อาจเป็นเพราะตัวแปรอื่นๆอีกมากมายทั้งที่มองเห็นและมิอาจสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าส่งผลมาถึงเรานั่นเอง และหรืออาจเป็นเพราะเราสร้างเหตุต่างๆที่สัมพันธ์ต่อผลลัพท์ที่หวังไว้ยังไม่มากพออีกด้วย ซึ่งตัวแปรต่างๆเหล่านั้นเกิดจากทั้งตัวแปรในปัจจุบันชาติและอดีตชาติร่วมด้วยเช่นกัน
กรรมนั้นมีอยู่จริงและผลแห่งกรรมนั้นก็มีอยู่จริง ทุกๆคนมีกรรมเป็นของตน สร้างแทนกันไม่ได้ #เราจึงมีหน้าที่ทำดีทำดีทำดีและทำดีไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง การเข้าใจได้เช่นนี้เป็นการเข้าใจทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสัมพันธ์กัน จะช่วยให้มีความรู้สึกหรือจิตที่เป็นกลางๆ (อุเบกขา)ไม่เศร้าเหงาเครียดและกังวลจนทุกข์หนัก
ใ นพุทธปรัชญา “#อดีต” ในที่นี้หมายถึงเมื่อหนึ่งลมหายใจออกที่ผ่านไป จนกลายเป็นชั่วโมงเป็นวันเป็นเดือนเป็นปีเป็นหลายๆปีและหลายๆชาติที่ผ่านมา #ในระดับอภิปรัชญาชีวิตภพนี้ใช่เป็นเพียงเหตุแต่เป็นผลลัพท์ของอดีตชาติอีกด้วย ที่ส่งผลให้เรามาเกิดและเรียนรู้จักความทุกข์และการดับทุกข์ให้ยิ่งๆขึ้น ดังนั้น #เหตุต่างๆที่สร้างไว้จึงทยอยส่งผลอย่างสมเหตุสมผลตามธรรมเสมอ แต่มนุษย์เข้าใจไม่ลึกซึ้งจึงมักบ่นด่าชะตาชีวิตว่าไม่เป็นธรรม แท้จริงทุกสิ่งล้วนเป็นธรรม แม้แต่การมิได้รับความเป็นธรรมก็ยังถือว่าเป็นธรรมอยู่เช่นนั้นเอง
ดังนั้นมนุษย์ทุกคนและทุกภพหากเกิดมาแล้วก็ล้วนมีหน้าที่สร้างเหตุกันอย่างมิจบสิ้น หากสร้างเหตุดีผลก็ต้องดี มิควรเกิดมาเพื่อหวังผล เพราะมีหน้าที่สร้างเหตุทั้งทางโลกและทางธรรม #เมื่อสร้างเหตุมากพอจนเปี่ยมพลังและสุกงอมแล้วตัวแปรอื่นจะไร้พลังการแปรปรวนต่อผลลัพท์ เราก็จะได้รับผลแห่งการกระทำนั้นๆอย่างชอบธรรมเสมอ เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบ(สัมมา)จนถึงผลลัพท์แล้วนั่นเอง ดังนั้นใครเกิดมาเป็นอย่างไรมีอาชีพอะไรและต้องทำอะไรนั้น ล้วนเป็นผลจากอดีตที่ต้องกลับมาทำหน้าที่นั้นๆให้สมบูรณ์และชอบธรรมยิ่งๆขึ้นด้วยเช่นกัน
อนึ่งเรื่องของกรรมและผลแห่งกรรมหรือเหตุและผลนี้ยังพออธิบายผ่าน กฏทางวิทยาศาสตร์แห่งการเคลื่อนที่ข้อสามของเซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newnon) ได้เช่นกัน เพราะหากมองอย่างลึกซึ้งแล้วชีวิตคนเรานั้นต่างก็เป็นวัตถุและมีการเคลื่อนที่อยูด้วยตลอดเวลาเช่นกัน นั่นคือ action (กรรม) เท่ากับreaction (ผลของกรรม) หรืออาจพูดว่า”#ทำอย่างไรได้อย่างนั้นและทำเท่าไรได้เท่านั้น”นั่นเอง ไม่มีเป็นไปอย่างอื่นในทางธรรม
ดังนั้นขอให้ทุกท่านเชื่อมั้นเถิดว่า กรรมนั้นมีอยู่จริงและผลแห่งกรรมนั้นก็มีอยู่จริง ทุกๆคนมีกรรมเป็นของตน สร้างแทนกันไม่ได้ #เราจึงมีหน้าที่ทำดีทำดีทำดีและทำดีไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง การเข้าใจได้เช่นนี้เป็นการเข้าใจทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสัมพันธ์กัน จะช่วยให้มีความรู้สึกหรือจิตที่เป็นกลางๆ (อุเบกขา)ไม่เศร้าเหงาเครียดและกังวลจนทุกข์หนัก จะช่วยให้ปรับตัวปรับใจต่อชีวิตได้ดี และมุ่งทำหน้าที่ทุกด้านของชีวิตให้ดียิ่งขึ้น จะช่วยคลีคลายปัญหาต่างๆทั้งอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และวิธีคิดเช่นนี้ยังเป็นวิธีการปรับมุมมอง(reframe)เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตตามแนวพุทธจิตวิทยาอีกด้วย